วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

ภาวะโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง (ตอนที่ 1)

ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมรังสีมะเร็งวิทยา เมื่อเดือนมีนาคม  พ.ศ. 2558  ได้มีการบรรยายที่น่าสนใจมาก  โดย ผศ.ดร.นพ.วีระเดช พิศประเสริฐ สาขา โภชนวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกี่ยวกับภาวะโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วย ผมจึงขออนุญาตเรียบเรียงมาให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้ที่มีผลดีต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล

ภาพประกอบ: http://www.integratedhealthclinic.com/_cancercare/

ภาวะทุโภชนาการ หมายถึงการได้รับสารอาหารไม่สมดุล มากเกินหรือน้อยเกินในผู้ป่วยมะเร็ง  จนมีผลกระทบต่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย และมีผลทำให้ สภาพร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออ่อนลง เกิดภาวะอ่อนล้า อ่อนเพลีย ที่สำคัญคือ อาจจะทำให้ผลการตอบสนองต่อการรักษาลดลง ในขณะเดียวกัน จะทำให้ภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เนื่องจากภาวะอักเสบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในตับ ที่ทำให้การขับถ่ายของยาลดลง ความเป็นพิษและผลข้างเคียงจึงเพิ่มขึ้น ทั้งหมดจะนำไปสู่ คุณภาพชีวิตและ พยากรณ์โรคที่แย่ลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้น

ร้อยละ 30-80 ของผู้ป่วยมะเร็งจะมีปัญหาการลดลงของน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับชนิดมะเร็ง ซึ่งจะลดลงมากในกลุ่มมะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งทางเดินอาหารเป็นต้น

สาเหตุของภาวะนี้ เกิดได้หลายประการตั้งแต่ การได้อาหารที่น้อยลง ด้วยความรู้สึกเบื่ออาหาร การใช้พลังงานที่มากขึ้น  ทำให้มีการขาดความสมดุลย์ 

วิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะทุโภชนาการ โดยเฉพาะการให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งทำให้ เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน การอักเสบของเยื่อบุ ทำให้เจ็บปาก เจ็บคอ และกลืนลำบาก หรือบางรายจะมีอาการ ท้องเสีย
การรักษา แบ่งเป็น
1. การให้อาหารเสริม  (Nutritional Support)   เป็นการจัดอาหารให้เพียงพอต่อผู้ป่วย เกิดขึ้นได้จากอาหารที่กินหรืออาหารเสริม ไม่ว่าจะเป็นการกินหรือการได้ทางสายยาง    โดยทั่วไปต้องการพลังงานที่ 25-35 kcal/kg ต่อวัน  โปรตีน 1.2-2 g/kg ต่อวัน   ทั้งนี้มีส่วนของไขมัน 30-50% ของปริมาณพลังงานที่ต้องการ เราควรเริ่มให้โภชนาบำบัดตั้งแต่การพบภาวะขาดอาหาร หรือคาดว่าผู้ป่วยจะจะกินไม่ได้มากกว่า 7 วัน  ทั้งนี้จะเป็นผ่านทางเดินอาหารหรือทางหลอดเลือดในช่วงระยะเวลาสั้นๆก็ได้

2. Immunonutrition  เป็นการให้สารอาหารที่มุ่งหวังในเรื่องภูมิคุ้มกัน และปรับภาวการณ์อักเสบ ตัวสำคัญ คือ Argenine, Glutamine Omega-3 Fatty Acid เป็นต้น ข้อบ่งชี้ที่สำคัญ คือ การได้รับการผ่าตัดใหญ่ ที่ลำคอและช่องท้อง  หรือ การให้ Fish oil ระหว่างการฉายรังสีร่วมกับยา  เป็นแนวคิดที่มีผลกระทบชัดเจนมากขึ้น  มีการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ

3. กลุ่มยาที่กระตุ้น ให้เจริญอาหาร ลดอาการคลื่นไส้ ที่ใช้บ่อยคือกลุ่ม Steroid ซึ่งควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยแพทย์ เพราะจะมีภาวะแทรกซ้อนได้มาก อีกกลุ่มที่ใช้ได้คือ Megestrol Acetate    ซึ่งมีราคาแพงกว่า แต่ภาวะแทรกซ้อนโดยรวมน้อยกว่า แต่อาจจะมีผลกระทบต่อ เพศหญิงที่อาจะมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ เนื่องจากเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ที่สำคัญคือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น