วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความอ้วนกับโรคมะเร็ง


ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

ในกิจกรรมวันมะเร็งโลกที่ผ่านมา มีหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจซึ่งจัดโดยศูนย์มะเร็งโฮลิสติคโรงพยาบาลไทยนครินทร์ที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจ และคงเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่น้อยในการนำมาเล่าสู่กันฟังในเรื่อง ความอ้วนกับมะเร็ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าความอ้วน สามารถก่อให้เกิดปัญหามากมาย ที่พบบ่อยและเราคุ้นเคย คือ เรื่องปวดเข่า ซึ่งเดิมจะพบเห็นมากในชาวตะวันตกยุโรป อเมริกา แต่ปัจจุบัน คนไทยเราก็กำลังตามหลังในโรคนี้มาอย่างติดๆ                 

แต่วันนี้ผมจะถ่ายทอดข้อมูลเรื่องอ้วนกับโรคมะเร็งจากเอกสารเผยแพร่ของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ โดย นายแพทย์ อาคม เชียรศิลป์  ซึ่งมีความน่าสนใจ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่อธิบายได้ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรือ อ้วน จะมีระดับฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) สูง ในขณะเดียวกันมีฮอร์โมนที่มีลักษณะเหมือนอินซูลิน (Insulin-like growth factor (IGF-1)) สูง ซึ่งฮอร์โมนนี้มีคุณสมบัติทำให้เซลล์เจริญเติบโตได้ จึงมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางชนิด

2. เซลล์ไขมัน (Adipocytes) อาจมีผลโดยตรงหรือทางอ้อมต่อสารกำกับหรือควบคุมการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อ (Tumor Growth Regulation) เช่น mTOR (Mammalian Target of Rapamycin) และ AMP-Activated Protein Kinase

3. คนอ้วนและผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีกระบวนการอักเสบเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลาหรือยังไม่แสดงอาการแบบเฉียบพลัน (Subacute) ซึ่งการอักเสบถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง

4. ไขมันทำหน้าที่เสมือนต่อมไร้ท่อ คือสร้างฮอร์โมนที่ส่งผลต่อร่างกายมากมาย ทั้งที่ดีและไม่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยพบว่านอกจากสารที่ไม่ดีดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ไขมันยังสร้างสารชนิดหนึ่งที่ให้ผลดีต่อการดำเนินของโรค ได้แก่ Adiponectin ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและลำไส้ที่มี Adiponectin สูง จะส่งผลต่อการรักษาที่ดีกว่า

ทั้งนี้ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคมะเร็ง พบว่าความอ้วนหรือน้ำหนักเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และมีผลต่อพยากรณ์โรค หรือผลการรักษา ในกลุ่มมะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน  มะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งระบบเลือด ชนิด ALL (Acute lymphoblastic leukemia) ในกลุ่มวัยวัยรุ่น

ท่านผู้อ่านที่สงสัยว่าตนเองจัดว่าอ้วนหรือไม่  ก็ลองคำนวณดัชนีมวลกาย หรือ Body mass index หรือ BMI ที่เป็นการประเมินง่ายๆ ด้วยสูตร

BMI = น้ำหนัก (กิโลกรัม) ÷ ด้วยส่วนสูง (เมตร) กำลังสอง




โดยถ้าได้ค่ามากกว่า 25  ถือว่าน้ำหนักเกิน และมากกว่า 30 ถือเป็นโรคอ้วน  หรือใช้เกณฑ์ เส้นรอบเอวมากกว่า 80 ซม. ในเพศหญิงและ 90 ซม. ในเพศชาย

ปัจจุบันเรื่องอ้วนและน้ำหนักเกินเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลเสียแล้วพยายามควบคุมด้วยวิธีการต่างๆโดยไม่ต้องต้องพึ่งยาลดความอ้วน ซึ่งท่านสามารถหาความรู้หรือคำแนะนำจากแหล่งข้อมูลทั่วไปได้อยู่แล้วนะครับ เรามาเริ่ม ลดอ้วนลดมะเร็งกันเถอะครับ



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่คิดว่าความอ้วนอาจนำไปสู่เร่ืองมะเร็งได้ด้วยเป็นสิ่งที่น่าเตือนต่อจริงๆค่ะ

    ตอบลบ