วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กัญชากับโรคมะเร็ง (ตอนที่ 3)

จาก ตอนที่แล้ว เรารู้จักกัญชากันมากขึ้น และชัดเจนว่ากัญชาไม่สามารถนำมาใช้ในการรักษาหรือ ป้องกันโรคมะเร็งได้   

แต่อย่างไรก็ตาม กัญชาก็มีประโยชน์ในทางการแพทย์ ในอดีตและปัจจุบันมีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ในหลายประเทศ โดยมีข้อบ่งใช้ของยา ได้แก่ บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัด รักษาอาการปวดจากโรคมะเร็ง การกระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคเอดส์   รวมทั้งการผ่านคลายความวิตกกังวลและการนอนไม่หลับ เป็นต้น

การบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน
ภาวะคลื่นไส้ อาเจียน เป็นสิ่งที่ทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีหลากหลาย ทั้งยาฉีดและยากิน 

Dronabinol เป็นสารสังเคราะห์ของ delta-9-THC ที่มีในกัญชา ได้รับการรับรองในสหรัฐเมื่อปี  1986 ในฐานะยาแก้อาเจียนในผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด คล้ายกับ ยา Nabilone ซึ่งใช้ในแคนาดา โดยมีรายงานการศึกษาที่รองรับ 

การกระตุ้นความอยากอาหาร (Appetite Stimulation)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาวะเบื่ออาหารน้ำหนักลด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็ง มีรายงานที่แสดงผลในการกระตุ้นอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง โดยเป็นการเปรียบเทียบ Dronabinol  อย่างเดียว เทียบกับการ ใช้ร่วมกับยา Megestrol Acetate และกลุ่มที่ใช้  Megestrol Acetate อย่างเดียว
                  
ในการรักษาภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยมะเร็ง เป็นการศึกษาแบบสุ่มในผู้ป่วย 469 คนในระยะลุกลาม ที่มีสภาวะน้ำหนักลด  ผลปรากฎว่า กลุ่มที่ได่ยา Megestrol เพียงอย่างเดียว มีภาวะเจริญอาหารเพิ่มขึ้นถึง 75% และมีน้ำหนักเพิ่ม 11% ส่วนกลุ่มที่มีการให้กัญชาร่วมจะมีภาวะการเจริญอาหารเพิ่มเพียง  49% และน้ำหนักเพิ่มเพียง 3% ดังนั้น จึงสรุปว่า ไม่ได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาเท่าไหร่นัก
                      
แต่มีรายงานเล็กๆ เมื่อเทียบกับยาควบคุมที่เป็นยาหลอก เทียบกับ Dronabinol ในผู้ป่วยมะเร็ง พบว่า กัญชา เพิ่มรสชาติอาหาร การเจริญอาหาร  พร้อมกันนั้น  ก็มีการศึกษาในผู้ป่วยเอดส์  จำนวน 139 คน  ที่มีปัญหาน้ำหนักลด พบว่าในกลุ่มที่ได้กัญชามีแนวโน้มจะทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น แต่น้ำหนักคงตัว ไม่ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กัญชา น้ำหนักจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
                    
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาแบบสุ่มก็ไม่พบความแตกต่างในผู้ป่วยมะเร็งระหว่างผู้ที่ได้กัญชากับไม่ได้กัญชา
                      
การแก้ปวด
มีหลักฐานชัดเจนว่าพบ CB1 Receptor  หรือ ตัวรับสารประกอบของกัญชาในระบบประสาทส่วนกลาง   ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถแสดงผลการระงับปวด
               
การปวดจากมะเร็ง สามารถเกิดได้หลายทาง เช่น การอักเสบ (Inflammation) การลุกลามเข้ากระดูก หรือ อวัยวะที่ไวต่อการปวด  หรือ การทำลายเส้นประสาทอาการปวดจากมะเร็งที่รุนแรงและเรื้อรัง มักจะดื้อต่อการรักษาด้วย Opioids
                  
มีรายงานการได้ผลในการลดความเจ็บปวดในปริมาณ 10 mg ของ  delta-9-THC ทำให้เกิดผลระงับปวดต่อเนื่องในช่วง 7 ชั่วโมงที่เท่าเทียมกับการใช้ 60 mg ของโคดีอีน (Codeine) แต่ในกลุ่มที่ได้ THC ปริมาณสูงจะออกฤทธิ์ทำให้หลับได้มากกว่ายากลุ่ม Codeine
                    
มีรายงานที่น่าสนใจว่า ในกลุ่ม Opioid-Refractory Patient หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้ผลหรือดื้อจากการใช้ Opioid  อาจจะได้ผลจากการใช้กัญชา       
                     
นอกจากนี้ยังมีการใช้ในรูปแบบ พ่นทางปาก (Oromucosal Sprayเพื่อความสะดวกในการบริหาร  แต่ยังต้องศึกษาต่อไป
                      
มีรายงานที่กล่าวถึงการใช้ Nabilone ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม จะช่วยลดการใช้ยาระงับปวด พวกมอร์ฟีน โดยจะช่วยให้การออกฤทธิ์ของกลุ่ม โคดีอินดีขึ้น
                     
แม้แต่เรื่อง Neuropathic Pain ที่เกิดจากยา Platinum-Based Chemotherapy หรือ กลุ่ม Taxanes ก็พบว่ากัญชาในรูปแบบสารระเหย  ได้ผลดีกว่ายาหลอก


 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
ความวิตกกังวลและการนอนไม่หลับ
มีการศึกษาในกลุ่มเล็กที่พบว่า กัญชา ช่วยให้มีการผ่อนคลายและทำให้การนอนหลับดีขึ้น อารมณ์ และความรู้สึกสบายดีขึ้น
                  
จากบทนี้ท่านผู้อ่านก็จะเห็นว่า หากเลือกใช้กัญชาในข้อบ่งชี้ ที่เหมาะสม มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังต่อเนื่องโดยมีการควบคุมที่ดี ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วย
                 
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรปลูกใช้เองนะครับ เพราะกฎหมายไทยยังไม่อนุมัติให้ใช้ได้ และยังมีปัญหาในเรื่องผลข้างเคียงซึ่งเราควรทราบ  ซึ่งผมจะนำเสนอในคราวหน้าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น