วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ข้อคิด... อ่านสักนิด เพื่อผู้ป่วยของเรา

ภาพประกอบจาก: https://www.sharecare.com

หน้าที่ของหมอ คือ บำบัดความทุกข์ของผู้ป่วยทั้งกายและใจ ใช่เพียงแต่รักษาโรค ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า Treat the patient, not the disease หรือ Treat the man, not the disease หรือจะขยายให้เห็นได้ชัดเจน ที่นอกเหนือจาก not the disease แล้ว คือ not the lab ที่หมายรวมถึงการเอกซเรย์ หรือ การตรวจใดๆก็ตาม ซึ่งบ่อยครั้งที่เราพลั้งเผลอไปให้ความสำคัญมากเกินไป เมื่อพบว่าผลเอกซเรย์ หรือ ค่าผลเลือดที่ผิดปกติ
                 
เราจะเกิดความพยายามในการแก้ปัญหาที่มาจากผลเลือดนั้นๆ แบบลืมคิดไปนิดว่าค่าปกติของผลเลือดมาจากสถิติของการศึกษาในประชากรจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากพอที่จะคาดคะเนว่าถ้าค่าผลเลือดเกินขอบข่ายในระดับปกติ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยค่านี้ อาจตั้งความแม่นยำที่ระดับ 80% หรือ 95% ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าผลเลือดในการตรวจค้นหามะเร็งหรือติดตามการรักษาโรคมะเร็งที่เรียกว่า Tumor  Marker จะมีความแม่นยำ หรือความจำเพาะ (Specificity) ไม่สูง                
                 
ผมมีผู้ป่วยหลายคน ที่ค่าผลเลือดของเขาดูผิดปกติ แต่ไม่เคยมีอาการอะไร ทั้งไม่มีโรคตามมาในภายหลัง หลายครั้งที่เขาต้องถูกเจาะเลือดซ้ำๆและตรวจค้นด้วยเทคนิคต่างๆอีกมากมาย เพราะผลเลือดที่ผิดปกติเพียงตัวเดียว  
                
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน คือ ค่า CEA เป็นได้ทั้ง ค่าผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ มะเร็งปอด   แต่ก็อาจจะเกิดในผู้ที่สูบบุหรี่ก็ได้  การเฝ้าระวังหรือตรวจเมื่อข้อบ่งชี้อื่นๆ เช่น อายุ อาการ ความเสี่ยง อาจจะเป็นคำตอบที่ทำให้เขาไม่ต้องทุกข์กาย หรือ ทุกข์ใจมากนักก็ได้  อย่าพยายามหาทางพิสูจน์ หรือ รักษา จนเกินความจำเป็นนะครับ                
                  
เรากำลังก้าวสู่แนวทางการรักษาที่เรียกว่า Individualized Medicine หรือการรักษาโรคที่จำเพาะปัจเจกบุคคล ที่ใช้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เรียกว่า Evidence Level 1 หรือ แนวทางการรักษาที่ผ่านการศึกษาที่มีหลักฐานชัดเจน โดยบางอันมีข้อกำหนดในการใช้การตรวจจากชิ้นเนื้อที่มีความจำเพาะต่อผู้ป่วยรายนั้นๆ    
                  
แต่เรากำลังขาดความเป็นปัจเจกที่ชัดเจนในเรื่องจิตใจ ครอบครัว และสังคมของผู้ป่วย เรากำลังใส่ข้อมูลทางกายเข้าสู่เครื่องวางแผนการรักษาที่ดีเลิศ แต่เมื่อไม่คำนึงถึงข้อมูลดังกล่าว ผลการวางแผนการรักษานั้นกลับไม่เหมาะสมกับ สภาวะจิตใจ ครอบครัว และสังคมของผู้ป่วย สร้างความกังวล และทุกข์ให้ผู้ป่วยมากมาย ดังตัวอย่างที่ผมเคยเขียนใน Blog นี้ ในเรื่องทีมสู้มะเร็ง 
                  
โรงเรียนแพทย์หลายแห่งกำลังขยายกำลังการบริการ เพียงเพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยได้เพียงพอ     แต่ขาดความคิดในองค์รวมว่าภาระที่ควรจะเป็นคืออะไร ประเทศควรบริหารทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างไร ผมยกตัวอย่าง โรงเรียนแพทย์ แห่งหนึ่งจะเพิ่มการบริการการฉายรังสีจากเดิมที่มีอยู่ เป็น 2-3 เท่าตัว  เพื่อรองรับผู้ป่วย ซึ่งสามารถรักษาได้ตามต่างจังหวัด หรือ Community Hospital แต่กลับมากระจุกตัวในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยแพทย์ที่มีชื่อเสียง ทั้งๆที่โรคอยู่ในระยะลุกลาม เช่น กระจายมาที่กระดูก หรือ สมอง ที่ไม่มีความแตกต่างกันในการรักษา
                          
หน้าที่ของเรา จึงอยู่ที่ทำอย่างไร  จะลดความลำบากให้ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่พัก ค่าอาหาร ความรู้สึกทางด้านจิตใจ โอกาสในการได้อยู่รวมกันของครอบครัว หากเพียงแพทย์ บุคคลการทางสาธารณสุข ผู้บริหารได้ตระหนักและช่วยกันวางแผนแก้ไข ตั้งแต่การอธิบายให้ผู้ป่วยสบายใจในการรักษาที่เท่าเทียมกัน การจัดระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงการรักษา ผ่านระบบเทคโนโลยี ผู้ป่วยและญาติจะลดความสูญเสียหลายอย่าง จะได้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและทุกข์น้อยที่สุด
                     
ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่ายและทราบกันดี แต่อยากลองให้ตั้งคำถามว่า ในแต่ละวันที่เราดูแลผู้ป่วย เราซักถามและให้ความใส่ใจในเรื่องที่ไม่ใช่โรคมากน้อยแค่ไหน ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ไม่กล้าพอที่จะสอบถาม ขอเพียงเราให้โอกาส ก็อาจจะทำให้การทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์ ดังพระราโชวาทของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย ที่ว่า I do not want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น