วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กัญชากับโรคมะเร็ง (ตอนที่ 2)

ภาพประกอบจาก: http://naturalsociety.com/marijuana-kills-cancer-cells-admits-the-u-s-national-cancer-institute/


การใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง   

ต่อจากตอนที่แล้ว ซึ่งเป็นภาพรวมของกัญชา วันนี้ผมจะเข้าสู่ประเด็นสำคัญ คือการใช้กัญชารักษามะเร็ง ผมขออนุญาตแสดงความเห็นดังนี้
              
ผมเห็นด้วย กับการแถลงของคณะกรรมการและยา พร้อมทั้งข้อคิดเห็นจากผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่มียาจากกัญชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อการรักษาโรคมะเร็งแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในคนเพียงพอ ที่จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้รักษาโรคมะเร็ง
                   
แต่ ผมไม่คัดค้านในบางข้อมูลที่เกี่ยวกับการทดลอง เพื่อดูประสิทธิภาพของกัญชาเกี่ยวกับมะเร็ง ดังเช่นตัวอย่างรายงานการศึกษา ในหนูที่แสดงว่า Cannabinoids อาจจะมีผลป้องกันโรคมะเร็งบางชนิด  พร้อมกันนี้ในการศึกษาต่อเนื่อง 2 ปี พบความสัมพันธ์ของปริมาณกัญชากับการลดลงของมะเร็งตับ รวมทั้งการลดลงของการเกิดเนื้องอกหรือติ่งเนื้อ (Polyps and Adenomas) ในอวัยวะต่างๆ เช่น เต้านม มดลูก ตับอ่อน เป็นต้น
                     
รวมทั้งมีรายงานการศึกษาอื่น ที่แสดงผลการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด ด้วยกระบวนการที่อาจจะเป็นได้ทั้งทำให้เซลล์ตาย (Induction of Cell Death) ยับยั้งการเจริญเติบโต (Inhibition of Cell Growth) หรือ ลดการสร้างเส้นเลือดในก้อนมะเร็ง (Tumor Angiogenesis) และการกระจายของโรค
                   
นำไปสู่ความเชื่อในการใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดหลายๆอย่าง โดยเฉพาะเนื้องอกชนิด Glioma ซึ่งเป็นเนื้องอกในสมอง ที่มีการศึกษาร่วมกับ Temozolomide
                    
อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานการใช้ทางคลินิคในวารสารทางแพทย์ ยกเว้น หนึ่งรายงานเล็กๆที่มีการฉีด Delta-9-THC เข้าในเนื้องอกที่กลับเป็นใหม่ในสมอง (Recurrent Glioblastoma Multiforme) ที่คล้ายกับว่าได้ผล แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการใช้                   
                
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แทบจะไม่มีการศึกษา เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือโอกาสที่จะได้ผลแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวอีกด้วย

กัญชากับการการเกิดมะเร็ง                    

มีได้ 2 ประเด็น คือ กัญชา เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งและกัญชาเป็นตัวลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง

ในเรื่องความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่เกิดจากกัญชานั้น มีรายงานการศึกษาหนึ่ง ที่มีประชากร 430  คน ที่เสพกัญชา เทียบกับกลุ่มควบคุม 778 คน พบว่ากลุ่มที่เสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งปอด คือสูบบุหรี่ร่วมกับเสพกัญชาจะสูงกว่ากลุ่มที่ไม่สูบกัญชาอย่างมีนัยสำคัญ
                    
ส่วนด้านตรงข้ามที่มีการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ แต่เป็นการศึกษาย้อนหลังในประชากรชาย  64,855 คน อายุ 15 -49 ปีในอเมริกา ผลการศึกษา ไม่พบความสัมพันธ์ในการเกิดของมะเร็งของผู้เสพกัญชากับกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ แต่ในผู้ไม่สูบบุหรี่กลับพบว่ามีความสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมลูกหมาก
                    
ยังมีอีกหลายรายงานที่แสดงถึงการไม่มีความสัมพันธ์ จึงสรุปได้ว่า มีการพบจริง เช่น มะเร็งศีรษะลำคอ แต่ก็ยังต้องศึกษาปัจจัยของการติดเชื้อไวรัส HPV ด้วยว่าเป็นปัจจัยหลักหรือไม่  
                    
ในทางตรงกันข้าม ก็มีรายงานการพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ลดลงในกลุ่มที่เสพกัญชา โดยศึกษาในผู้ชาย 84,170  คน ติดตามที่ 16 ปี พบการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ในผู้ที่เสพกัญชา 89 คน เทียบกับ 190 คน ที่ไม่เสพกัญชา ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ                    
                   
แต่สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชา ซึ่งพบว่าการสูบในลักษณะนี้เพียง 4 มวน จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวน หรือ 1 ซอง ซึ่งจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า อีกทั้งกัญชายังมีสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายที่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แม้จะมีผู้กล่าวอ้างว่า การสูบกัญชาจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำมันดิบที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด แต่ในกัญชานั้นมีสาร THC ที่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบที่เกิดจากน้ำมันดิบได้ จึงเป็นสาเหตุให้การสูบกัญชาไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดเหมือนการสูบบุหรี่ทั่วไป
                 
เห็นไหมครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ที่จะมากล่าวให้คนเชื่อจริงจังว่า ไม่ต้องกลัวมะเร็งอีกต่อไป เพราะมีกัญชาที่รักษาก็ได้ ป้องกันก็ดี  
                
โปรดใช้วิจารณญาณไตร่ตรองให้ดี และถ้าวงการแพทย์จะใช้ ก็คงจะมีการพิจารณาใช้อย่างเหมาะสมชัดเจนกว่านี้ ซึ่งผมจะนำเสนอในตอนต่อไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น