วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กัญชากับโรคมะเร็ง (ตอนที่ 1)

ภาพประกอบจาก: http://blog.seedsman.com/breaking-cannabis-cancer/

เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว มีกระแสเกี่ยวกับกัญชารักษาโรคมะเร็งได้ จนเป็นที่ฮือฮาและมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกมามากมาย

มีผู้ถามความเห็นกับผมว่า กัญชารักษามะเร็งได้จริงหรือไม่ และควรจะเปิดให้การใช้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ โดยความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้มีคนพูดกันเยอะมาก พูดกันมานาน ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัญชา หรือการยืนยันข้อเท็จจริงจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมทั้งองค์การอาหารและยา  ที่กล่าวกันคนละมุม อ้างกันคนละแหล่งข้อมูล 

ผมเองคิดว่ากระแสจะจบไปเอง เหมือนเห็ดหลินจือ หรือ สมุนไพร หลายชนิด
                    
ปัจจุบัน กัญชาจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
                    
ผมเชื่อว่าคงมีขั้นตอนอีกยาวที่จะมีการพิจารณาให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และเชื่อว่ามีผู้รู้มากมายที่คงจะออกกฎหมายที่รัดกุม ไม่ให้เกิดผลเสียอย่างแน่นอน
                    
แต่เพื่อความรู้ ความเข้าใจของผู้ป่วยมะเร็ง และกระแสของสังคมในด้านโรคมะเร็ง ผมจึงขอนำข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการที่จะนำไปใช้ ทั้งนี้ ผมได้เรียบเรียง จากบทความของ NCI (National Cancer Institute) สหรัฐอเมริกาได้รับการตรวจสอบแก้ไขเมื่อ 05/27/2016 เกี่ยวกับกัญชา และส่วนประกอบที่ใช้ในการรักษาอาการที่มีความสัมพันธ์กับมะเร็ง ที่อาจจะเป็นจากตัวโรคเอง หรือ จากการรักษา เช่น การลดการอาเจียน การกระตุ้น การเจริญอาหาร 

ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับกัญชา    
กัญชา เป็นพืชล้มลุก จำพวกหญ้าชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Cannabis Indica หรือ Cannabis  หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Marijuana มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเซีย และกระจายไปทั่วโลก 
                  
รายงานพอจะเชื่อได้ว่ากัญชามีประโยชน์  คือ Delta-9-Tetrahydrocannabino l (THC) ของกัญชา จะคล้ายกับ Synthetic Delta-9-THC ในน้ำมันงา ที่ได้รับรองให้ใช้เป็นยาแก้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยมีชื่อทางการค้าว่า Dronabinol ซึ่งมีรายงานการศึกษาทางคลินิคว่าได้ผลดีเท่ายาแก้อาเจียนในยุคนั้น
                 
นอกจากนี้ ก็มีผู้นำไปใช้ เพิ่มน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเอดส์ ในปี 1980 อย่างไรก็ตาม แม้จะกระตุ้นการเจริญอาหาร แต่น้ำหนักตัวก็ไม่เพิ่ม   
                 
Cannabinoid ในกัญชา ซึ่งเป็น Nonpsychoactive Cannabinoid ซึ่งมีความสำคัญ จากการศึกษาในปี 1988 มีการพบ Cannabinoid Receptor ในสมอง และในปี 1993 พบใน B lymphocytes and Natural Killer Cells จากการศึกษาเหล่านี้ นำไปสู่คำอธิบายในเรื่องการควบคุมอาการปวด พฤติกรรมทาง อารมณ์ การควบคุมการอักเสบ และความน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็ง
                   
นอกจากนี้สารสกัดจากกัญชา ในชื่อยา Nabiximols (Sativex) ซึ่งใช้ใน แคนนาดา นิวซีแลนด์ และหลายประเทศในยุโรป ยังถูกใช้เพื่อลดอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งและโรค Multiple Sclerosis ที่มีปัญหากล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวอีกด้วย

ประวัติกัญชาในทางการแพทย์

กัญชา มีใช้ทางการแพทย์มากว่า 3,000 ปี ถูกนำมาใช้ในการแพทย์ตะวันตก เมื่อปี 1839 โดย W.B. O’Shaughnessy ศัลยแพทย์ที่ได้เรียนรู้คุณสมบัติทางยาจากอินเดียซึ่งขณะนั้นถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปวด  ยานอนหลับ ลดการอักเสบ ลดการหดเกร็ง และลดการชัก
                        
ในปี 1937 มีการนำเข้าในอเมริกา ต่อจากนั้นก็มีการใช้  เลิกใช้ ห้ามใช้ มีการนำออกจากรายการยา  และได้มีการบรรจุเข้าเป็นสารเสพติด จนกระทั่งในปัจจุบัน ยังเกิดความสับสนในกฎหมายต่างรัฐกัน   โดยสรุป  จากข้อมูล  
1. กัญชาถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ มานานหลายพันปี
2. การถือครองกัญชาถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอเมริกา ยกเว้นในการวิจัย และยกเว้นในบางรัฐ เช่น โคลัมเบีย ที่อนุญาติให้ใช้ในทางการแพทย์
3. The U.S. Food and Drug Administration หรือ FDA  ไม่ได้รับรองให้ใช้ในการรักษามะเร็ง
4. สารประกอบทางเคมี ของกัญชาที่เรียกว่า  Cannabinoids  มีส่วนกระตุ้นทางด้านระบบประสาท และระบบภูมิคุ้มกัน จึงมีการนำมาใช้ทำยา เช่น Dronabinol และ Nabilone ที่ใช้ในการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็ง
5. ปัญหาอยู่ที่การทำวิจัย เพื่อขอนุมัติจาก FDA ในสหรัฐนั้นไม่ง่าย เพราะเป็นสารควบคุมที่ต้องขอนุญาตหน่วยงานที่ควบคุมสารเสพติด (National Institute on Drug Abuse) ก่อนการวิจัย
                  
บทต่อไป ผมจะเพิ่มข้อมูลที่ชัดเจน ในแต่ละส่วนที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัย ถึงข้อดีและข้อเสียเพื่อการพัฒนาต่อไป ซึ่งเราก็ทราบดีอยู่แล้วว่าก่อนที่จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น ยังจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆอีกมาก แต่การปิดกั้นทั้งหมด หรือ การหลงเชื่อนำมาใช้อย่างผิดๆจะเป็นอันตรายได้ครับ






















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น