วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การรักษามะเร็งด้วยความร้อน เพิ่มผลมากน้อยแค่ไหน? รายงานใน Radiation Oncology ปี 2016

การรักษามะเร็งด้วยความร้อน สามารถเพิ่มผลมากน้อยแค่ไหน? เป็นคำถามที่มีความสำคัญมาก ทั้งในการนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยหรือการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น    

แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่ามีรายงานมากมายที่แสดงการได้ผลดีจากการรักษามะเร็งด้วยการให้ความร้อนในการเสริมการรักษาด้วยรังสี  แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาที่แสดงแน่ชัดว่าจะเพิ่มผลมากน้อยเท่าไร
              
ดังเช่น มะเร็งปากมดลูก ในระยะ FIGO ที่ 2-4 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าการให้ได้ผลการรักษาทีดี และมีอัตราการควบคุมโรคที่ดี ต้องใช้การรรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัดชนิด Cisplatin เป็นมาตรฐาน โดยมีทางเลือกอื่น คือ การใช้รังสีร่วมกับความร้อน (Hyperthermia)  
               
Hyperthermia หมายถึง การใช้ความร้อนที่ระดับ 40–45 องศา เป็นตัวเสริมผลของรังสีและยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูง เพิ่มผลการรักษาทางคลินิคอย่างชัดเจน โดยมีรายงานการศึกษาแบบสุ่มที่เปรียบเทียบการรักษาแบบ Thermoradiotherapy คือการให้ความร้อนร่วมกับรังสีรักษาที่ให้ผลการควบคุมโรคที่เท่ากับการใช้ยาและเคมีบำบัด และในรายงานที่ศึกษาเปรียบเทียบการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว จะได้ผลที่เหนือกว่าชัดเจน โดยในการศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์ (The Dutch Deep Hyperthermia Trialไม่เพียงแต่แสดงผลการควบคุมโรคที่สูงถึง 83% จากการฉายรังสีร่วมกับความร้อน  เมื่อเทียบกับการ 57% จากการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว
               
ในขณะเดียวกัน ก็ได้ผลที่ดีกว่าในเรื่องอัตราการอยู่รอดที่ระยะ 3 ปี ซึ่งได้ถึง 51% เมื่อเทียบกับ 27% ของการฉายรังสีอย่างเดียว เมื่อติดตามรายงานที่ระยะ 12 ปี อัตราการอยู่รอดก็ยังคงสูงถึง เท่า ในกลุ่มรักษาด้วยรังสีร่วมกับความร้อนเมื่อเทียบกับการฉายรังสีอย่างเดียว  (37% : 20%)

การรักษามะเร็งด้วยความร้อนร่วมกับรังสี เพิ่มผลมากน้อยแค่ไหน ?                   
                   
จากรายงานที่แสดงผลทางคลินิคว่า การใช้ความร้อน (Locoregional Hyperthermia) ร่วมกับรังสีรักษาในมะเร็งปากมดลูก เพิ่มทั้งอัตราการควบคุมโรคและเพิ่มอัตราการอยู่รอด เมื่อเทียบกับการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบคำถามที่ว่าได้เพิ่มผลของรังสีมากน้อยแค่ไหน ถ้าจะนำไปใช้ในโรคอื่นๆ ต้องวางแผนในการกำหนดปริมาณรังสี หรือ ความร้อนอย่างไร นำมาสู่การศึกษาที่สำคัญ เพื่อเป็นการแสดงประสิทธิภาพของความร้อน  ซึ่งในรายงานนี้ เป็นการใช้แบบจำลองทางชีววิทยา (Biological Modeling) ของการเพิ่มผลในเชิงปริมาณรังสีด้วยความร้อน ในการรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยรังสี โดย J. Crezee และคณะ จากมหาวิทยาลัย อัมสเตอร์ดัม ประเทศ เนเธอแลนด์ (Biological modeling of the radiation dose escalation effect of regional hyperthermia in cervical cancerที่รายงานใน  Radiation Oncology (2016) 11:14
                
หรืออีกนัยหนึ่ง การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบจำลองทางชีววิทยา เพื่อเป็นแสดงการเพิ่มผลของรังสี (Radiosensitization) สำหรับการร่วมกันของการรักษาด้วยรังสี และความร้อน ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 3 ราย ในเชิงปริมาณรังสี เทียบกับการฉายรังสีอย่างเดียว
               
ในรายงานนี้ มีการกำหนดการฉายรังสีจากภายนอก ด้วยปริมาณรังสี 46 Gy ในการฉายรังสี 23 ครั้ง ครั้งละ 2Gy
                 
การรักษาด้วยความร้อน (Hyperthermia) ใช้การจำลองเสมือนจริงในระหว่างการรักษา
                 
ผลการศึกษา : การจำลองเหมือนจริง จากความร้อน  Simulated Hyperthermia สำหรับผู้ป่วย 3 ราย ที่ได้ความร้อนเฉลี่ย T50 เท่ากับ 40.1 °C, 40.5 °C, 41.1 °C และ T90 of 39.2 °C, 39.7 °C, 40.4 °C, ตามลำดับ

Credit: Crezee J., et al. Biological modelling of the radiation dose escalation effect of regional hyperthermia in cervical cancer. Radiat oncol. 2016 Feb 2; 11:14.

พบว่า ผลการใช้รังสีร่วมกับความร้อน ให้ผลของรังสี D95 ที่ระดับ 52.5Gy, 55.5Gy, 56.9 Gy หรือมีการเพิ่มของรังสี เท่ากับ 7.3–11.9 Gy เมื่อเทียบกับการฉายรังสีอย่างเดียว ซึ่ง D95 = 45.0–45.5Gy

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ผมต้องขออภัยเป็นอย่างสูง เพราะพยายามทำให้อ่านง่ายที่สุดแล้ว ทั้งนี้ผมได้ตัดสูตรที่ใช้ออกแล้ว อ่านทบทวนอีกครั้งก็ยังยากอยู่ เอาเป็นง่ายๆว่าฉายรังสีอย่างเดียวปริมาณรังสีเท่ากับ 45-45.5 หน่วย แต่เมื่อได้รับความร้อนเสริมจะได้ผลรังสีที่ 52-56.9 หน่วย
                     
สรุปการศึกษานี้ เป็นการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางชีววิทยาเพื่อประเมินผลการเพิ่มผลของรังสีด้วยความร้อน ในเชิงปริมาณรังสีที่เพิ่มขึ้น ของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกด้วยรังสี
                     
รูปแบบจำลองนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการการฉายรังสีร่วมกับ ความร้อน ที่มีตารางการรักษาที่แตกต่างกัน หรือในอวัยวะที่แตกต่าง
                   
บทความนี้จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจ สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถดูต่อได้ในเอกสารอ้างอิง เพื่อการวิเคราะห์ ที่ละเอียดมากกว่าที่ผมนำเสนอใน Blog นี้ เพราะมีเอกสารที่อ้างอิงต่อเนื่องอีกมาก
                 
สำหรับผู้ป่วย และญาติ ก็จะเป็นอีกหนึ่งความหวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ หรือ ผู้ที่ไม่สามารถทนต่อยาเคมีบำบัด หรือ มีข้อห้ามในการใช้ยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ท่านควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาท่าน หวังว่าข้อมูลนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อท่านบ้างนะครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น