วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แนวทางใหม่ในการรักษามะเร็งด้วยยาปฏิชีวนะ!!!

Professor Michael P. Lisanti     
ภาพประกอบจาก: http://www.manchester.ac.uk/discover/news/article/?id=13755
แนวทางการใช้ผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อ เพื่อขจัดเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์มะเร็ง   ได้ถูกกล่าวถึงโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์  Dr. Michael P. Lisanti ซึ่งได้แนวคิดนี้จากการสนทนากับลูกสาว เกี่ยวกับงานของเขาด้านการรักษาโรคมะเร็งที่สถาบัน

Camilla  ลูกสาวได้ตั้งคำถามง่ายๆว่า ทำไมเราไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเหมือนโรคอื่นๆ
ทำให้  Dr. Lisanti ฉุกคิดได้ว่ายาปฏิชีวนะมีผลต่อ Mitochondria แหล่งสร้างพลังงานของเซลล์ จึงทำให้เกิดความคิดที่น่าจะศึกษาความเชื่อมโยงในการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษามะเร็ง

บทความของศาสตราจารย์ Michael P. Lisanti ผู้อำนวยการหน่วยมะเร็งเต้านม (Director of the Breakthrough Breast Cancer Unit) ซึ่งตีพิมพ์ใน Oncotarget   เป็นแนวคิดใหม่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการรักษามะเร็งด้วยยาปฏิชีวนะที่ปลอดภัยและใช้มายาวนาน

Mitochondria เป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่เรารู้จักกันดี เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ที่กลายพันธุ์และแบ่งตัว   อันเป็นสาเหตุของการเกิดก้อนเนื้องอก

ศาสตราจารย์  Lisanti และคณะ  จาก The Albert Einstein College of Medicine, New York and the Kimmel Cancer Centre, Philadelphia   ทำการศึกษายาปฏิชีวนะ 5  ชนิด  โดยตัวหนึ่งที่ใช้บ่อยในการรักษาสิว คือ  Doxycycline   บนเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง 8 ชนิด พบว่าสามารถทำลายเซลล์ ได้ถึง 4 ชนิด ตัวอย่างเช่น เซลล์เนื้องอกสมอง glioblastoma เป็นต้น

ศาสตราจารย์ Lisanti กล่าวว่า การทดลองนี้ ได้เปิดแนวทางใหม่ในการทดลองการรักษามะเร็งด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อมนุษย์ แต่ต้องศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อวิเคราะห์ผลอย่างชัดเจนต่อไป โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับการรักษามาตรฐานที่มีอยู่ปัจจุบัน

Dr. Matthew Lam นักวิจัยอาวุโสในสถาบันเดียวกันกล่าวว่า ด้วยสมมุติฐานที่น่าสนใจ ประกอบกับยาปฏิชีวนะราคาถูกและมีใช้มานาน การทดลองนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่งในการนำไปสู่การรักษามะเร็งในแนวทางใหม่

นี่เป็นตัวอย่าง ความสำคัญของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องมีความมุ่งมั่นบางครั้งคำตอบต่อคำถามที่ยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหน้าที่เราปล่อยผ่านไป ทำให้พลาดคำตอบนั้นไป การอุทิศเวลาในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เคยมีรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษามะเร็งที่ร่วมกับการติดเชื้อ พบว่าได้ผลดีต่อผู้ป่วย  ตัวอย่างเช่น   การใช้ Azithromycin ในผู้ป่วยมะเร็งปอด  ที่เพิ่มอัตราการอยู่รอดที่ 1 ปี จาก 45 % เป็น  75 %
หรือ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่ได้ Doxycycline ที่ได้ประโยชน์ต่อการตอบสนองการรักษา

Dr. Federica Sotgia ผู้นำการวิจัยอีกท่านหนึ่งเห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ในอีกสิบปีข้างหน้า  คาดว่าจะต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างมากมาย  โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา  เมื่อยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีราคาถูกกว่าการบำบัดโรคในปัจจุบัน จึงน่าจะได้รับการศึกษา เพื่อปรับปรุงวิธีรักษาโรคให้ได้ผลดีและคุ้มค่าในอนาคต

บทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับนักวิจัยในไทย ในการค้นพบความจำเพาะของมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทยกับยาปฏิชีวนะก็เป็นได้ และอาจจะนำไปใช้ในการร่วมรักษาในกรณีที่โรคกระจายหรือลุกลาม ซึ่งอาจจะเพิ่มอัตราการอยู่รอดหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็เป็นได้  นับว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของวงการมะเร็งในปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง
Michael P. Lisanti et al. Antibiotics that target mitochondria effectively eradicate cancer stem cells, across multiple tumor types: Treating cancer like an infectious disease. Oncotarget, January 2015
Manchester University. "Antibiotics as new cancer treatments? Conversation with schoolgirl sparks idea." ScienceDaily. ScienceDaily, 28 January 2015. www.sciencedaily.com.
                   


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น