วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โรงพยาบาลวัฒโนสถ ร่วมลงนามญี่ปุ่น สร้างศูนย์รังสี Heavy Charged Particle ในประเทศไทย

นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของวงการแพทย์ในเมืองไทย และเป็นข่าวดีที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษามะเร็ง ซึ่งเป็นการยกระดับการรักษามะเร็งในประเทศไทย เพื่อทางเลือกที่มากขึ้นในการรักษามะเร็ง

โรงพยาบาลวัฒโนสถ ศูนย์มะเร็งที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้มีการร่วมลงนามความร่วมมือกับ Universal Strategy Institute Limited Liability Company (ประเทศญี่ปุ่น) ในการสร้างศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีทางด้านรังสีรักษาที่ให้ประสิทธิผลในผู้ป่วยมะเร็งและเนื้องอกที่ทันสมัย สามาถลดระยะเวลาในการรักษา มีผลข้างเคียงน้อย ใช้ได้กับผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการฉายรังสีแบบเดิม หรือรับการรักษาแบบเดิมแล้วไม่เป็นผล

ในประเทศญี่ปุ่นเองได้มีก่อสร้างและติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคหนักที่มีประจุ (Heavy Charged Particle Accelerator) สำหรับรักษาโรคเพื่อใช้ในทางการแพทย์ และประสบความสำเร็จในการใช้รังสีรักษาด้วยคาร์บอนไอออน โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงสุขภาพแรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2003 ในการ “การรักษาก้อนเนื้องอกด้วยไอออนหนัก” (Solid Tumor Treatment with Heavy Ion Therapy)

โดยวิธีการรักษานี้ ได้มีการรักษาคนไข้ไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อมูลอัตราการมีชีวิตรอดที่ 5 ปีในมะเร็งแต่ละชนิดดังนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก 95% มะเร็งปอด (non-small cell lung cancer) ระยะที่หนึ่ง 70% มะเร็งกระดูกที่บริเวณด้านข้างของกระดูกสันหลังและกระดูกอุ้งเชิงกราน 50% มะเร็งตับชนิดลุกลามหรือชนิดกลับเป็นใหม่ 50% มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม 45% เป็นต้น โดยที่โรงพยาบาลวัฒโนสถจะเป็นลำดับที่ 8 ที่จะมีศูนย์ฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy”

โดยการฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี Heavy Ion Therapy นั้นมีการใช้อนุภาคคาร์บอน นีออน และอาร์กอน (ไอออนหนัก) ในการฉายรังสี ส่วนใหญ่ที่ใช้กันมากจะเป็นคาร์บอนบำบัด (Carbon Therapy) ซึ่งไอออนหนักสามารถคายพลังงานเกือบทั้งหมดในความลึกที่ต้องการได้ ดังนั้นจึงสามารถให้ปริมาณรังสีที่เซลล์มะเร็งและเนื้องอกในปริมาณที่สูง โดยที่เนื้อเยื่อปกติโดยรอบได้รับรังสีน้อยมาก นอกจากนี้ไอออนหนักยังมีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่ารังสีที่ใช้อยู่ทั่วไป 2-3 เท่า ไอออนหนักเป็นประเภทหนึ่งของอนุภาคบำบัด หรือ Particle Therapy

โดย Particle Therapy หรือการรักษาด้วยอนุภาค แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ
1. การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton Beam Therapy) โดยอนุภาคโปรตอนนี้จะได้มาจากการแยกไฮโดรเจนไอออน และ
2. การรักษาด้วยอนุภาคไอออนหนัก (Heavy-ion Beam Therapy) ไอออนหนักนั้นส่วนใหญ่จะใช้ธาตุคาร์บอนในการรักษา ซึ่งระยะเวลาการรักษาด้วยคาร์บอนนั้นสามารถลดทอนระยะเวลาในการรักษาลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง และปริมาณรังสีที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับมีปริมาณน้อยกว่าการรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน


การรักษาด้วยอนุภาค (Particle therapy) เป็นวิธีการรักษาที่แพร่หลายมากในประเทศญี่ปุ่น โดยข้อดีของการรักษาด้วยอนุภาคบำบัดคือ มีความแม่นยำสูง สามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในความลึกและตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ในปริมาณรังสีที่เหมาะสม จึงเหมาะสำหรับการรักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด และกลุ่มผู้ป่วยที่ปฏิเสธการผ่าตัด เนื่องจากลำรังสีจะคายพลังงานเกือบทั้งหมดในตำแหน่งที่กำหนด จึงทำให้ปริมาณรังสีที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายนั้นก่อผลกระทบกับเซลล์ปกติน้อยมาก ในขณะที่เซลล์มะเร็งหรือก้อนเนื้องอกนั้นจะถูกทำลายอย่างตรงเป้าหมา

ที่มา: ThaiPR.Net
http://www.thaipr.net/health/576024

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ16 ตุลาคม 2557 เวลา 19:12

    ขอบคุณสำหรับข่าวสารที่มีประโยชน์เสมอ

    ตอบลบ