เนื่องในเดือนตุลาคมนี้
เป็นเดือนที่องค์กรต่างๆทั่วโลกมีการรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม ก็จะมีหลายงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ "Thinking Pink" หรือ
"Wear it Pink" โดยในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย มีการรณรงค์ในลักษณะต่างๆกัน เพื่อเป็นกระตุ้นให้ระวังมหัตภัยจากมะเร็งเต้านม
เช่น การสวมใส่ชุดสีชมพู การติดสัญลักษณ์การต่อต้านมะเร็งเต้านม การจัดนิทรรศการ
การบริการตรวจ Mammogram ราคาพิเศษ เป็นต้น
ท่ามกลางความสนใจนี้ เรามักจะลืมนึกถึงมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
ซึ่งจากสถิติ เราพบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นผู้ชายได้ประมาณ 1 %
ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด
โดยพยากรณ์โรคในผู้ชายจะแย่กว่าผู้หญิง และมากกว่าร้อยละ 20
จะเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่จะพบก้อนที่โต
และลุกลามไปในส่วนอื่นของร่างกายแล้ว
ทั้งนี้อาจจะเป็นจากธรรมชาติของโรคเอง หรือ เกิดจากการการรณรงค์ต่อต้านและป้องกันมะเร็งเต้านมและการตรวจคัดกรองในผู้ชายมีน้อยกว่าผู้หญิง
ทำให้พบโรคในระยะที่ลุกลามแล้ว
ผู้คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าผู้ชายจะเป็นมะเร็งเต้านม
เพราะไม่คิดว่าผู้ชายมีเต้านม
ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะมีจำนวนเนื้อเต้านมในปริมาณไม่มาก
ซึ่งประกอบด้วย ต่อมที่สามารถผลิตน้ำนม และท่อที่จะนำน้ำนมสู่หัวนม
และเนื้อเยื่ออื่นๆรวมทั้งไขมัน
เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยสาว ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนจะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของทุกส่วนในเต้านม
ขณะที่เพศชายจะไม่มีฮอร์โมนดังกล่าว จึงไม่มีการเจริญเติบโตของเต้านม อย่างไรก็ตาม
ในเพศชายก็จะยังคงมีเซลล์ในส่วนที่เป็นท่อน้ำนมอยู่ ซึ่งสามารถเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้ เหมือนเซลล์อื่นๆในร่างกาย
ซึ่งจะลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระจายได้ใน
กระแสเลือดในเวลาต่อมา
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
แม้จะไม่ชัดเจน แต่ก็จะมีลักษณะคล้ายกับในเพศหญิง
โดยจะพบมากในผู้ป่วยสูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ชายที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
มี Inherited
BRCA1 และ BRCA2 Gene Mutations ปัจจัยอื่น เช่น
การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา อ้วน
และการโดนรังสี ก็มีส่วนเพิ่มอัตราเสี่ยง
ดังนั้นควรเป็นการรณรงค์ให้มีความสนใจในเต้านมของทุกคน ทั้งชายและหญิง
โดยดูรายละเอียดในบทการตรวจเต้านม
อาการมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
อาจจะพบเป็นก้อน หรือการบวมของเต้านม หรือ
การโตของต่อมน้ำเหลือง หรือ การย่นของผิวหนัง มีการบุ๋ม หรือมีรอยแดงรอบหัวนม
การมีน้ำไหลออกจากหัวนม ทั้งนี้อาการดังกล่าวทั้งหมดอาจเป็นเพียง
Gynecomastia ซึ่งเป็นการโตของเต้านมปกติก็ได้ แต่อย่าได้ประมาทและนิ่งนอนใจ ควรจะปรึกษาแพทย์
การกระตุ้นให้ผู้ชายสนใจเป็นส่วนสำคัญยิ่ง
เพราะการตรวจพบ และวินิจฉัยเร็วหมายถึงโอกาสการรักษาหายได้ ผู้ชายรู้สึกขวยเขินและลำบากใจ และอายที่จะเป็นโรคซึ่งเป็นที่สนใจและพบมากในเพศหญิง ในกรณีที่สงสัย
การวินิจฉัยที่ชัดเจนจะทำเหมือนกันในผู้หญิง คือ Mammogram ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ชายจะบอกว่าไปตรวจ
Mammogram เพราะคงจะสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ได้ยินเรื่องนี้ไม่น้อย
ผู้ชายต้องตรวจค้นคัดกรองหามะเร็งเต้านมเป็นประจำหรือไม่
American Cancer Society เห็นว่าไม่มีประโยชน์ในการคัดกรองในเพศชายโดยการทำ
Mammogram ในประชากรทั่วไป เนื่องจากอัตราการพบผู้เป็นโรคน้อย แต่ก็มีบางหน่วยงานที่แนะนำให้ผู้ชายที่มีความเสี่ยง คือมี BRCA
Gene Mutation ควรตรวจเต้านมตั้งแต่อายุ
35 ปีขึ้นไปทุกปี และพิจารณาตรวจ Mammogram
เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ก็มีบางกลุ่มที่ขัดแย้งว่ายังไม่มีการศึกษาถึงประโยชน์อย่างแท้จริง
ความตื่นตัวในเรื่องมะเร็งเต้านมในเพศชายเริ่มในปี คศ.
2009 กลุ่มผู้สนับสนุนให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องมะเร็งเต้านมในเพศชาย
ได้เริ่มรณรงค์ โดยถือเอาสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม ซึ่งขณะนี้เริ่มมีในหลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกา
หวังว่าท่านผู้อ่านเพศชาย คงเริ่มให้ความสนใจมะเร็งเต้านม
อย่างน้อยก็รู้ว่ามะเร็งชนิดนี้ผู้ชายก็เป็นได้ การสังเกตตนเองบ่อยๆจะมีส่วนช่วยให้ปลอดภัยจากมะเร็งที่ถูกลืมในผู้ชายนี้ได้ครับ
บอกให้คนใกล้ตัวอ่านไม่คาดคิดค่ะพูดถึงเต้าเป็นเื่องของผู้หญิงคงจะละเลยไม่ได้เสียแล้ว
ตอบลบ