วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

ปีใหม่ คิดใหม่: คิดให้มะเร็งเป็นโรคเรื้อรัง

ในอดีต พวกเราคงคุ้นเคยกับข่าวการเป็นมะเร็งแล้วต้องตาย และส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น

ปัจจุบันคนเริ่มจะเข้าใจแล้วว่ามะเร็งบางชนิดหายขาดได้ถ้าได้รับการตรวจเช็คจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่นๆ

ภาพประกอบจาก: https://www.sharecare.com
                     
การดูแลเอาใจใส่ของทีมมะเร็ง นับแต่แพทย์ พยาบาล ญาติที่ดูแล โดยเฉพาะกำลังใจของตัวผู้ป่วยเอง   จะเป็นส่วนสำคัญในการรักษา โดยระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของโรค อายุ สภาพร่างกาย และ การตอบสนองต่อการรักษา ทั้งนี้อัตราการอยู่รอด หรือ อัตราการหายจากโรคมะเร็งได้เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลสถิติของประเทศอังกฤษ อัตรานี้ได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงระยะ 40 ปี ที่ผ่านมา จาก 25% เป็น 50% ทำให้ ณ วันนี้ เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่โรคมะเร็งเป็นแล้วอาจจะไม่ตายจากโรคมะเร็งก็ได้      ผู้ป่วยและญาติส่วนหนึ่งเริ่มรู้สึกรับได้ ไม่ตระหนกหรือวิตกกังวลจนเกินไป ไม่สิ้นหวัง จนบางคนหยุดคิดหยุดทำในสิ่งที่ควรทำ ทั้งที่ยังพอทำได้ เพราะมัวห่วงว่าไม่รู้จะอยู่อีกนานแค่ไหน
                    
วันนี้ ทีมสู้มะเร็งต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจในความรู้ใหม่ ถึงการจัดโรคมะเร็ง เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน หรือ โรคไต โรคหัวใจ อื่นๆ  ที่เมื่อเป็นแล้วยังสามารถจะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ นอกจากจะรักษาให้หายขาดได้ในระยะเริ่มแรกแล้ว  เรายังพยายามรักษาแบบประคับประคอง ในผู้ป่วยที่มีอาการเกินกว่าจะหายขาดได้ให้มีอายุยืนยาวขึ้น โดยมีคุณภาพชีวิตที่น่าพอใจด้วย เหมือนคนที่เป็นเบาหวาน หรือ โรคหัวใจ
                   
ตัวอย่าง โรคมะเร็งที่มีลักษณะจัดเป็นโรคเรื้อรัง เด่นชัด คือ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ มะเร็งในระยะแพร่กระจาย ที่โรคนั้นเป็นแล้วหายแต่อาจกลับมาหาเราใหม่ หรือบางครั้งอาจแล่นพล่านไปอยู่ในส่วนอื่นๆของร่างกาย
                  
ดังนั้น ทีมสู้โรคมะเร็ง จึงต้องปรับกลยุทธ์ในการรับมือครับ    
                  
ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ หรือทีมให้การรักษา จะปรับวิธีการรักษาให้เข้ากับธรรมชาติ ให้เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ที่ต้องมีการผ่อนสั้น ผ่อนยาว บางช่วงเร่ง แต่บางช่วงก็รอ ในการรักษามะเร็งกลุ่มนี้ บางครั้งกลยุทธ์ในการรักษา จึงมีคำว่า หยุดพักร้อนจากการรักษา นั่นคือเมื่อให้การรักษาแล้วก้อนยุบลง แต่เรารู้ว่าไม่หมด อาจจะรอดูเมื่อมันโตกลับมาค่อยรักษาก็ได้ เรียกว่า Treatment Holidays ให้ร่างกายได้หยุดพัก เป็นระยะเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนซึ่งรุนแรงเกินกว่าร่างกายจะรับได้ และแน่นอนที่สุด ผู้ป่วยจะทรมานน้อยลง ได้ดำเนินชีวิตเกือบปกติมีช่วงพักระยะหนึ่งทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้นบ้าง       
                  
การพยายามทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการรักษามะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาครั้งแรก หรือ ครั้งที่ 2-3  ซึ่งบางครั้งจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่สิ่งที่ได้อาจจะเป็นอาการหรือภาวะแทรกซ้อน เพื่อแลกมาเพียงภาพเอกซเรย์ หรือ ผลเลือดที่ดีขึ้น
                 
ดังนั้นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการหนึ่ง จะต้องไม่เกิดอีกอาการหนึ่งที่รุนแรงกว่า โดยผลที่ได้นั้นจะลดอาการแทรกซ้อนทั้งทางกาย เช่น อาการคลื่นไส้ เพลีย เบื่ออาหาร เหนื่อย แน่นหน้าอก รวมทั้งสภาะวะทางจิตใจ ลดอาการซึมเศร้า ท้อแท้ หงุดหงิดเป็นต้น
                 
ยามุ่งเป้า หรือ เทคนิครังสีรักษา ที่ทันสมัย เช่น SBRT SRT SRS จึงเป็นทางเลือกใหม่ ที่เป็นตัวบรรเทาอาการที่ดี เพราะ จะมีภาวะแทรกซ้อนน้อยและสะดวกในการรักษา
                                 
บทความนี้ ดูเป็นเรื่องง่ายๆ และไม่เป็นที่น่าสนใจนัก แต่โดยความเป็นจริงแล้ว จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอนาคต ดังที่ผมได้พูดถึงบทก่อนนี้ว่าแนวโน้มของการให้ความสำคัญของคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ของการประชุมวิชาการมะเร็งโลก รวมทั้งความรู้สึกที่แท้จริงของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งคุณป้าน้อยในตัวอย่างของ Blog  นี้
                   
นับเป็นมิติใหม่ ของมะเร็ง ที่มีสถานะเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งพวกเราทีมสู้มะเร็ง จะมีกำลังใจช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน อย่างมีความสุขมากกว่าเดิม

สุขสันต์ปีใหม่ 2560  ครับ
             
                       
                              















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น