วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

โรคจิสท์ (GIST) ไม่ใช่ ตัวจิ๊ด (ตอนที่ 1)

วันนี้ได้รับคำถามจากญาติผู้ป่วยรายหนึ่งว่า ป่วยเป็นจิสท์ (GIST) ตอนแรกฟังแล้วคิดว่าเป็นพยาธิตัวจิ๊ด แต่พอหมอบอกเป็นมะเร็งก็ตกใจ อยากรู้ว่าคือ มะเร็งอะไร รักษาอย่างไร   

ผมต้องยอมรับว่าอธิบายยากพอสมควร แม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้น แต่ก็นับว่ายังน้อย โดยสถิติพบเพีย 1.5 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี และเท่ากับ 0.5% ของมะเร็งทางเดินอาหาร พบในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป หลายครั้งในอดีตมักจะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ในระบบทางเดินอาหาร หรือ เรียกว่า มะเร็งของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร  

แพทย์มักเรียกสั้นๆว่าเป็น GIST เพราะแม้แต่คำเต็ม Gastrointestinal Stromal Tumor ก็ยังฟังแล้วไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะไม่เหมือนกับมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม ซึ่งฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย เอาเป็นว่า GIST เป็นชื่อเรียกเนื้องอกชนิดหนึ่ง เป็น Mesenchymal Tumor ที่พบบ่อยที่สุดในทางเดินอาหาร เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ Interstitial Cell of Cajal (ICC) ที่ผนังของทางเดินอาหาร โดยอาจจะเป็นเนื้องอกปกติ หรือ เนื้อร้ายที่อาจมีการกระจายไปตับหรือเยื่อบุช่องท้องได้ พบบ่อยที่สุดบริเวณกระเพาะอาหาร 60 -65 % รองลงมาพบที่ลำไส้เล็ก 20-25%,ในลำไส้ใหญ่ 5-10%, และหลอดอาหาร 5% อาจจะพบได้ที่อวัยวะอื่น เช่น ตับ รังไข่ และมดลูก    

การตรวจวินิจฉัย
บางครั้งผู้ป่วยอาจจะตรวจพบโดยบังเอิญ ทั้งๆที่ไม่มีอาการก็ได้ เพราะอาการมักจะมาจากการกดเบียด หรือการมีเลือดออกตามตำแหน่งที่เกิดโรค ส่วนใหญ่จะมีอาการเมื่อก้อนโตแล้ว เช่น ปวดท้อง ปวดจุกแน่น เสียดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แต่อาจมีอาการ เช่น ถ่ายเป็นเลือด  ซีดลงผิดปกติ  หรือ จะมาด้วยการคลำได้ก้อนในท้อง
                      
การตรวจร่างกายอาจจะคลำพบก้อน หรือ ตรวจพบจากการตรวจทางรังสีบริเวณช่องท้อง เช่น อัลตร้าซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องเป็นการตรวจพิสูจน์ ด้วยการตรวจทางวิธี Immunohistochemistry ที่เรียกว่า C-kit หรือ CD117 ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของ GIST ที่ช่วยแยกจาก Leiomyosarcomas, Leiomyomas and Schwannomas จึงจะเป็นการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายว่าเป็น GIST  

แนวทางการรักษาโดยทั่วไป (Cancer.Net 12/2014 )
การรักษา GIST เหมือนกับมะเร็งโดยทั่วไป ที่ต้องมีการปรึกษาวางแผนร่วมกันของ สหสาขาวิชาชีพ  โดยคำนึงถึงระยะโรค และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย รวมทั้งเป้าประสงค์การรักษา แต่แนวทางหลักในการรักษา คือ การผ่าตัด และการให้ยา

การผ่าตัด  จะเป็นการรักษาหลัก โดยเฉพาะในกรณีที่รอยโรคอยู่เฉพาะที่ และสามารถผ่าตัดได้ โดยควรผ่าทันทีเมื่อพร้อม การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษา วิธีเดียว ที่ทำให้หายขาดได้ในกรณีที่โรคยังอยู่เฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายที่สามารถผ่าตัดได้ โดยทั่วไปจะไม่มีการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง เพราะธรรมชาติของโรค ไม่ค่อยไปต่อมน้ำเหลือง 
                   
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่รอยโรคมีขนาดใหญ่กว่า 3 ซม. แม้จะผ่าตัดหมดแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับเป็นใหม่ อาจพิจารณารักษาต่อด้วยากลุ่ม Imatinib เป็นเวลา 3 ปี
              
การรักษาด้วยยา
ด้วยเหตุที่ยาเคมีบำบัด ไม่ค่อยได้ผลในการรักษาและมีภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างมาก จึงมักจะไม่ใช้ในการรักษา GIST แต่ยาที่ได้ผลมาก คือ ยามุ่งเป้า กลุ่ม Kinase inhibitors ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีความจำเพาะต่อเนื้องอก มีผลข้างเคียงน้อยและเพิ่มอัตราการอยู่รอดอย่างชัดเจน โดยในปี 2002 FDA อเมริกา ได้อนุมัติการใช้ Imatinib  ซึ่งเป็น Kinase Inhibitor ตัวแรก สำหรับการรักษา GIST ซึ่งผมจำได้ว่าในปีนั้นเป็นการประกาศที่ยิ่งใหญ่และสร้างความหวังให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมากที่จะมีอัตราการอยู่รอดมากกว่า  5 ปี     
                    
วิธีการให้ยานั้น มีทั้งการใช้ยาอย่างเดียว หรือจะเป็นการให้ก่อนผ่าตัดในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่ หรือ อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ หรือ หลังการผ่าตัดในปริมาณ 400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยบางคนอาจจะได้สูงถึง 800 มิลลิกรัม ถ้ามี Exon 9 Genetic Mutation ซึ่งพบในกลุ่มที่เริ่มจากลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความ GIST ทุกชนิดจะตอบสนองต่อยากลุ่มนี้  ภาวะแทรกซ้อนที่ของยาที่อาจพบได้ เช่น บวม ผื่น คลื่นไส้ หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่รุนแรง จะเป็นเลือดออก หรือ การอักเสบของตับ  ภาวะแทรกซ้อนนี้ บางครั้งจะดีขึ้นเอง แต่ในบางราย ต้องลดขนาดยาลง

Sunitinib (Sutent) เป็น Kinase Inhibitor ที่หยุดภาวะการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Angiogenesis) ซึ่งจะส่งอาหารไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งให้มีการเจริญเติบโตและการแพร่กระจาย  การใช้ยานี้ จึงเป็นการหยุดการส่งอาหารและเลือดไปสู่เนื้องอก Sunitinib ได้รับการอนุมัติในปี 2006 โดย FDA สำหรับการรักษา GIST เมื่อก้อนเนื้องอก ยังโตหลังการได้รับการรักษา ด้วย Imatinib หรือเมื่อภาวะแทรกซ้อน ของ Imatinib ไม่ลดลง แม้จะลดยาแล้ว

Regorafenib (Stivarga) เป็น Tyrosine Kinase Inhibitor ได้รับการอนุมัติ ในปี 2013 สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัด และไม่ได้ผลจาก Imatinib และ Sunitinib

ในหลายกรณีที่ไม่ได้ผลจากการรักษาหลัก อาจจะต้องใช้วิธีการรักษาอื่น ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ฟังในตอนที่ 2 ครับ

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น