วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง: อย่าท้อ เพียงเพราะคำว่าไม่หาย

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

เป็นธรรมดาของโรคมะเร็ง ที่ผู้ป่วยหรือญาติมักจะตกใจ และรู้สึกแย่ขนาดที่ไม่อยากจะเอ่ย หรือ คิดถึง   ไม่ว่าจะเป็นตอนกำลังรักษา หรือ หายแล้วก็ตาม ผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะมีความมั่นใจว่าจะหาย ส่วนหนึ่งพร้อมสู้แม้จะมีความหวังอันน้อยนิด
                 
ด้วยเหตุที่การรักษามะเร็งนั้นยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ฉายรังสี และยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะ 2 วิธีหลังที่ผู้ป่วยจะกลัว เพราะเคยได้ฟังมาว่า ภาวะแทรกซ้อนมีมาก  บางครั้งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และบางครั้งถึงกับเสียชีวิต               

ดังนั้นเมื่อมีคำว่า "ไม่หาย" จึงเปรียบเสมือนคำตัดสินที่ผู้ป่วยจะยอมรับด้วยความท้อแท้ และหยุดการรักษา ยอมรับสิ่งที่จะตามมา โดยเฉพาะท่านที่มีปัญหาชีวิตอยู่แล้ว เช่นปัญหาครอบครัว ทางการเงินและหรือปัญหาอื่นๆ

เหตุที่ผมนำเรื่องนี้มากล่าวถึงในวันนี้ เพราะ มีญาติผู้ป่วยรายหนึ่ง มาปรึกษาว่า อาของเขา ขายขนมในตลาด อยู่ๆก็รู้สึก แขน ขาข้างขวาอ่อนแรง ทั้งที่ปกติเป็นคนแข็งแรงดี ไปตรวจที่โรงพยาบาล พบว่าเป็นมะเร็งปอด และกระจายไปที่สมอง หมอบอกระยะที่ 4 แล้ว รักษาไม่หาย

อาของเขาไม่มีครอบครัว อยู่คนเดียว จึงยอมรับสภาพว่า แขนขา อ่อนแรง ก็เหมือนอัมพฤกษ์ ไม่ช้าหรือ เร็วก็ตายเหมือนกัน อยากใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายโดยไม่ต้องรบกวนใคร ญาติซึ่งเป็นหลานก็รู้สึกสงสาร อยากถามหาหนทางที่จะรักษา ก็เลยไปปรึกษาอีกโรงพยาบาล โดยไม่มีผู้ป่วยไปด้วย ก็ได้รับคำตอบที่เหมือนกัน แต่ครั้งนีดูเหมือนจะหนักกว่าเดิม เพราะพอแพทย์อธิบายวิธีการรักษา ตัวหลานก็มึนไปด้วย เพราะมีทั้งการฉายรังสี ที่สมอง 2-4 สัปดาห์ ต้องเดินทางทุกวัน รวมกับการต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาเคมีบำบัด  เดือนละครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน เขาจะช่วยอาได้อย่างไรดี เพื่อช่วยมิให้อาท้อแท้จนสู่ภาวะจิตตก

ผมเข้าใจ ถึงความรู้สึกนี้ดี อยากที่จะบอกว่าขอให้สู้ และขอเสนอข้อคิดในมุมต่างๆ ดังนี้
                 
ตัวผู้ป่วย: คงต้องตระหนักว่าการป่วยถึงขั้นไม่หายนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่คุณภาพชีวิตขณะยังมีลมหายใจ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ป่วยมะเร็งรายนี้ ถ้าไม่รับการรักษา สิ่งที่จะตามมา คือขณะยังมีชีวิตอยู่ อาจจะหอบเหนื่อย ไอเป็นเลือด ช่วยตัวเองไม่ได้นอนบนเตียงตลอดเวลา จริงอยู่ถึงรักษาก็ไม่อาจที่จะมีชีวิตยืนยาว แต่มีโอกาสลดความทรมานให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องแขนขาอ่อนแรง หรือไอเป็นเลือด ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ลำบาก และเป็นภาระทั้งตัวเอง และญาติ                                        

จึงขอแนะนำว่า อย่าท้อ สร้างพลังใจให้ตัวเอง แม้เป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็พยายามนะครับ ผมไม่ได้เปรียบเทียบระหว่างโรค เพราะทุกความสูญเสีย คือ ความทุกข์  แต่อยากจะยกตัวอย่างให้อย่าท้อในเรื่องมะเร็ง

ส่วนญาติผู้ป่วย: แม้ผู้ป่วยหมดทางรักษา แต่การได้รับกำลังใจ การดูแลที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยมีความสุขได้บ้างในบางเวลา  ถือเป็นเป้าประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการให้แก่ผู้ป่วย อย่าตัดสินใจลดภาระในเบื้องต้น โดยการไม่ไปรักษา เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานในระยะยาว การปรึกษาและเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ร่วมกับแพทย์  จะเป็นสิ่งที่จะช่วยผู้ป่วยได้

ฝ่ายแพทย์: การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ปกติหมอก็จะให้ความสำคัญในการรักษาเต็มที่ทุกระยะ จนกระทั่งถึงระยะสุดท้าย ไม่ได้ดูเฉพาะในกลุ่มที่รักษาได้ ศิลปะในการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย โดยการสร้างความสมดุลทุกมิติ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  เพราะจะมีความหลากหลายในปัญหา ที่ผนวกรวมของผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว และสังคม ที่ไม่มีในตำราเล่มไหน เขียนได้หมด 

ไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่า CPG ( แนวทางมาตรฐานการรักษา )

ไม่มี Evidence Level 1 หรือ หลักฐานการบ่งชี้ในระดับ 1 ซึ่งต้องปฏิบัติตาม ทุกอย่างเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่นำไปสู่บุญกุศลอันยิ่งใหญ่ครับ ให้โอกาสและสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ป่วย อย่าได้เกิดความท้อแท้ หดหู่ และซึมเศร้า เลยครับ

ผมก็คงได้แต่หวังว่าในอนาคตอันใกล้ กระทรวงสาธารณสุขคงเล็งเห็นความจำเป็นในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะไม่หาย โดยเฉพาะกลุ่มซึ่งไร้ญาติหรือ มีญาติ แต่ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะช่วยเกื้อกูลกันได้เต็มที่  รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณสร้างสถานพยาบาลกลางในทุกภูมิภาค เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้เท่าที่จะพึงทำได้ นอกเหนือจากเทคโนโลยีราคาแพง ในมหาวิทยาลัยแพทย์  ศูนย์มะเร็งต่างๆ ที่มีแต่ความแออัด เกินกว่าที่จะดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ เพื่อความสุข และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ท้อ แม้ไม่หายครับ
             

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น