วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การใช้ความร้อนในการกำจัดเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งที่ดื้อต่อการรักษา

ภาพประกอบจาก: https://yournuelife.com/what-is-stem-cell/

ผมเคยเสนอบทความในบล็อกเรื่องการรักษามะเร็งด้วยความร้อน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2016 และบางบทก่อนหน้านั้น เกี่ยวกับผลดีในการใช้ความร้อนต่อมะเร็งบางชนิด 
                  
วันนี้จะเสนอรายงานข่าวสารที่เกี่ยวกับ Hyperthermia จากวารสาร Int. J Hyperthermia 2017 ที่กล่าวถึง บทบาทของความร้อนในการกำจัดเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งที่ดื้อต่อการรักษา (Targeting Therapy-Resistant Cancer Stem Cells by Hyperthermia) โดย A. L. Oei และคณะ จากประเทศเนเธอร์แลนด์นับเป็นอีกแง่มุมที่น่าสนใจ พร้อมกับความคาดหวังในความก้าวหน้าของการวิจัยต่อๆไป   
                  
เป้าหมายหลักในการรักษาโรคมะเร็ง คือการกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดจากร่างกาย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการกระจาย และการกลับเป็นใหม่ของโรคเป้าหมายที่ท้าทายนี้ ยังไม่ประสบผลเท่าที่ควร
                  
กลุ่มประชากรหรือกลุ่มเซลล์ที่เป็นประเด็นสำคัญดังกล่าว คือ เซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง หรือ Cancer Stem Cells (CSCs) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตั้งต้นในการมะเร็ง พร้อมทั้งลุกลามและแพร่กระจาย เป็นกลุ่มที่จะดื้อและหลบหลีกจากการรักษาทั่วไป ทั้งการผ่าตัด ฉายรังสี และยาเคมีบำบัด  ซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจาย หรือ การกลับเป็นใหม่ CSCs จึงอยู่ในความสนใจในการวิจัย เพื่อที่จะหาวิธีที่จะกำจัดให้หมด
              
ในรายงานนี้ จึงเป็นการประมวลแนวคิดที่นำไปสู่ความเป็นไปได้ของประโยชน์ของเทคนิค Hyperthermia  หรือ การให้ความร้อน ซึ่งถูกนำมาร่วมรักษา มาเป็นระยะเวลายาวนาน  พอจะสรุปผลได้ดังนี้
                  
- ประการที่หนึ่ง Hyperthermia ได้ถูกนำมาใช้ในการมุ่งกำจัดเซลล์ที่ขาดออกซิเจนและอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของ CSCs ซึ่งเป็นสาเหตุหลักมี่ทำให้การฉายรังสีหรือยาเคมีบำบัดทั่วไป ได้ผลน้อย
                   
- ประการที่สอง Hyperthermia สามารถที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหลอดเลือดและความเข้มข้นของออกซิเจน เป็นต้น
                    
- ประการที่สาม Hyperthermia มุ่งเป้าในการเปลี่ยนแปลงในหลายเส้นทาง ของ กระบวนการซ่อมแซมของ ดีเอนเอ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนา ความดื้อต่อการรักษาของเซลล์  CSCs
                     
การเติม Hyperthermia เข้าในกระบวนการรักษามะเร็ง จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการกำจัดกลุ่มเซลล์ที่ดื้อและหลบหลีกการรักษา
                     
ผมไม่ได้เข้าไปในรายละเอียดของเรื่องนี้ แม้หลายตอนของบทนี้จะแสดงถึงความสำเร็จของการใช้การรักษาร่วม แต่หลายอย่าง ดูจะเป็นเรื่องในระดับโมเลกุลที่สลับซับซ้อนที่เหมาะสมกับแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม นับเป็นบทความที่รวบรวมข้อมูลในการสนับสนุน  กระบวนการที่เกิดผลในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซ่อมแซม ดีเอนเอ การเพิ่มออกซิเจน หรือ การตอบสนองจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ จากการอ้างอิงรายงานการศึกษาถึง 170 รายงานในวารสารทางการแพทย์   
                     
ในอดีตที่ผ่านมา การรักษาจะเป็นเพียงการฉายรังสี และ การให้ยาเคมีบำบัด หลังจากเกิดกลับเป็นใหม่   ก็จะเพิ่มความร้อนร่วมในการรักษา ซึ่งให้ผลการรักษาดีขึ้น
                    
คณะผู้รายงานจึงตั้งแนวคิดว่า ทำไมจึงไม่ให้ความร้อน ร่วมกันตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะเกิดผลที่เป็นไปได้ดังที่กล่าวมาแล้ว
                     
บทนี้ จึงเป็นการเปิดแนวคิด ให้ทีมสู้มะเร็งเข้าใพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการใช้ความร้อน เพื่อการรักษามะเร็งว่ามีมายาวนาน แต่ยังต้องอาศัยการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้ข้อมูลมากเพียงพอในการจำเพาะ เป็นข้อบ่งชี้ในแต่ละโรคและแม้แต่โรคเดียวกัน ก็ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าจะได้ผลทุกราย ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการประเมินความชัดเจนในเรื่องผลข้างเคียง ที่แม้ว่าในรายงานในเบื้องต้นว่า พบได้ไม่มากและไม่รุนแรง ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาเหมือนแนวทางการรักษาที่มาตรฐานในปัจจุบัน เช่นรังสีรักษาที่มีข้อบ่งชี้ และข้อห้ามที่ชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น