วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ทีมสู้มะเร็ง : ความสับสนในการรับการรักษา

ภาพประกอบจาก: https://about.sharecare.com
เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยในการตัดสินใจรับการรักษา โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน ที่มีการเชื่อมโยงของข้อมูลได้รวดเร็วและอิสระ บางครั้งขาดการกลั่นกรองหรือทำความเข้าใจที่ดีพอ หนึ่งในความสับสนที่พบบ่อยคือ คำอธิบายของแพทย์ที่ต่างกรรม ต่างวาระ ดังตัวอย่างนี้
                       
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเป็นมะเร็งตับอ่อน เกิดอาการสับสนอย่างหนัก เพราะแพทย์แจ้งว่าที่รักษามาผิดพลาด ต้องรักษาแบบใหม่ที่ต้องใช้ยา ราคาแพงที่จำเพาะต่อโรค เม็ดละ 7,000 บาท เป็นระยะเวลาหนึ่งที่ยังกำหนดไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไร
                 
รายละเอียดที่น่าสนใจ คือ

1. ผู้ป่วท่านนี้ เป็นมาแล้ว 12 ปี
2. เป็นมะเร็งตับอ่อน ชนิด A ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้โดยศัลยแพทย์ เนื่องจากก้อนยึดติดอยู่ จำเป็นต้องรักษาต่อด้วยวิธีอื่น จึงถูกส่งตัวเข้าปรึกษาในมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งหนึ่ง
3. ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสี และยาเคมีบำบัด ตามแบบมะเร็งตับอ่อน ภรรยารับทราบถึงพยากรณ์โรคที่ไม่ดี จึงคิดที่จะลาออกจากราชการ
4. ในการติดตาม มีการใช้ยาเคมีบำบัดที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น เนื่องจากพบการกระจายที่ตับ
5. ต่อมามีภาวะแทรกซ้อนจากยาเคมีบำบัด และผลการตอบสนองไม่ดีนัก ผู้ป่วยจึงได้รับการฉายรังสี 1-2 ปี ต่อครั้เพื่อบรรเทาอาการ หรือเมื่อก้อนโตขึ้น
6. ผลการติดตามการรักษา ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถปฏิบัติราชการในต่างประเทศ และกลับมาติดตามการรักษาเป็นระยะ
7. ต่อมาเอกซเรย์ มีการกระจายของโรคอีก  แพทย์ท่านหนึ่ง ได้พิจารณาว่าให้มีการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อหาทางกำหนดแนวทางการรักษาใหม่ ด้วยเทคนิคการย้อมพิเศษ พบว่าเป็นนื้องอก ชนิด B          
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเปลี่ยนเป็นยามุ่งเป้า ซึ่งทั้งเทคนิคทางการตรวจและการให้ยามุ่งเป้าสำหรับมะเร็งชนิดนี้ เพิ่งจะได้รับการพิสูจน์ในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งก็นับว่าน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
                   
แต่เมื่อได้รับคำอธิบายว่า การรักษาที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ต้องใช้ยาใหม่ที่มีความจำเพาะ ผู้ใหญ่ท่านนี้ก็สับสนเล็กน้อย เพราะที่ผ่านมา เขาก็รู้สึกดีกับการรักษามาตลอด แต่ด้วยหมอท่านใหม่ที่รักษา แนะนำยาใหม่ ซึ่งเขาเองก็คิดว่าดีแน่ เพราะเป็นยาที่มีราคาสูงทีเดียว
                    
2 เดือนผ่านไป อาการกลับแย่ลง ผู้ป่วยเกิดแพ้ยา ผิวแห้ง คัน  กินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด เกือบ 10 กิโลกรัม ทั้งๆที่หมอว่ายานี้แทรกซ้อนน้อย

ท่านควรจะทำอย่างไร กลับไปหาหมอเดิมดีหรือไม่ หรือรักษาต่อไป
                
ท่านสับสนครับ
               
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเกิดขึ้นได้ ความถูกต้องในเวลาที่แตกต่างกัน อาจจะไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งที่มี ความก้าวหน้าในการวินิจฉัยและการรักษาเมื่อ 12 ปี ก่อน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หากไม่ได้รับการรักษา ก็อาจจะไม่สามารถอยู่มาได้ โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมาได้นานขนาดนี้
                  
การรักษาที่ได้รับในปัจจุบันก็ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ทันสมัย แต่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องจำเพาะบุคคล เพราะยามุ่งเป้านั้นเป็นการแพ้ ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าจะแพ้ได้มากมายขนาดนี้ เหมือนยา ซัลฟา ที่ใช้ทั่วไป อาจจะแพ้ ถึงขนาดเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
                
ควรเชื่อมั่นในทีมสู้มะเร็ง การพูดคุยกันทั้งแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ ในความรู้สึกต่อการรักษา โปรดอย่าใช้คำว่าผิด ถูก เพราะทุกอย่างเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่มุ่งหวังการรักษาเพื่อผู้ป่วยทั้งนั้น อย่าว่าแต่ต่างเวลากัน10 ปี เลย แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ต่างความคิด การตัดสินใจที่ต่างกัน ก็ย่อมเกิดขึ้นได้
                    
เมื่อผู้ป่วยเริ่มสับสนไม่เข้าใจ หมอก็ต้องพยายามสื่อสาร ทำความเข้าใจ และร่วมกันวางแผนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยบอกกล่าวให้แจ่มแจ้งชัดเจนผมขออนญาตย้ำว่าผู้ป่วยทุกท่าน สามารถสอบถามข้อข้องใจเพื่อความเข้าใจได้อยู่แล้วนะครับ ตั้งสติ ตั้งคำถามให้กระจ่าง ตั้งสติ ตอบคำถามที่ชัดเจน เป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย ที่กำลังทุกข์ อย่าให้เกิดความสับสนนะครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น