วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยความร้อน ปี 2016


ท่านผู้อ่านที่ติดตาม Blog นี้ คงทราบกันดีถึงแนวทางใหม่ ในการนำความร้อนมาใช้ในการรักษามะเร็งปากมดลูก โดยมีรายงานเป็นระยะๆ ก่อนหน้านี้
                 
วันนี้ ผมขอนำรายงานการศึกษาแบบสุ่ม หรือ Randomized Study โดย Yoko Harima และคณะ จาก Kansai Medical University ร่วมกับอีกหลายสถาบันในประเทศญี่ปุ่น ที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร International Hyperthermia Online  เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2016  ซึ่งนับว่าเป็นการศึกษาที่เป็นมาตรฐานในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1B-4A โดยเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับความร้อนและไม่ได้รับความร้อน ร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐานด้วยการฉายรังสี และยาเคมีบำบัด  Cisplatin
               
การศึกษานี้มาจากหลักการพื้นฐานที่
1. มาตรฐานการรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะดังกล่าว คือการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด (Cisplatin)
2. รายงานการศึกษาแบบสุ่มในการเปรียบระหว่างการฉายรังสีอย่างเดียวและการฉายรังสีร่วมกับความร้อน หรือ Hyperthermia ที่แสดงถึงผลอย่างชัดเจนทั้งการตอบสนอง และอัตราการอยู่รอด (Overall Survival) ว่าการใช้ความร้อนร่วมด้วยดีกว่าการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว
3. รายงานการศึกษาที่ความร้อนเพิ่มผลการรักษามะเร็งด้วย Cisplatin  
4. การใช้เทคนิค Trimodal โดยเป็นการรักษาร่วมกันระหว่างการใช้ความร้อน (Hyperthermia) การฉายรังสี + ยาเคมีบำบัด ในมะเร็งปากมดลูกที่กลับเป็นใหม่ พบว่าสามารถเพิ่มผลการตอบสนอง โดยไม่มีผลข้างเคียงที่มากขึ้น

คณะแพทย์จากหลายสถาบันในประเทศญี่ปุ่น จึงร่วมกันศึกษาโดยสุ่มเปรียบเทียบในผู้ป่วยที่มีลักษณะของโรคมะเร็งปากมดลูกที่มีลักษณะโรคและสภาพร่างกายที่คล้ายคลึงกัน จำนวน 101 คน
                   
โดยฉายรังสีเป็นแบบมาตรฐาน 1.8-2 Gy ต่อครั้ง ประมาณ 5 สัปดาห์ ร่วมกับการใส่แร่มาตรฐาน ยาเคมีบำบัดที่ใช้เป็น Cisplatin 30-40mg/m2 สัปดาห์ละครั้ง
                  
แหล่งการกำเนิดความร้อน ใช้คลื่น Radiofrequency (RF) จากเครื่อง Thermotron RF8 ในพลังงานช่วง 800-1500 วัตต์ ทั่วทั้งอุ้งเชิงกรานในวันที่ฉายรังสี โดยมีการวัดความร้อนในช่องช่องคลอดและ ทวารหนักร่วมด้วย ทั้งนี้มีกำหนดอุณหภูมิที่ 43 องศา
   
ผลการศึกษา
ระยะเวลาที่มีชีวิตรอด (Overall Survival) ในกลุ่มที่ได้รับความร้อนร่วมด้วยมากกว่าที่ 77.8% : 64.8% 



















ระยะเวลาที่ปลอดจากโรค (DFS) ในกลุ่มที่ได้รับความร้อนร่วมด้วยมากกว่าที่  70.8%  : 60.6%



                

















ระยะเวลาที่ปลอดจากโรค (LRFS) ในกลุ่มที่ได้รับความร้อนร่วมด้วยมากกว่าที่ 80.1% :71%
                
การตอบสนองแบบสมบูรณ์ หรือ การหายของรอยโรคทั้งหมด (Complete Response) ในกลุ่มที่ได้รับความร้อนร่วมด้วยมากกว่าที่ 88% :77%       

ซึ่งสรุปได้ว่า สามารถเพิ่มทั้งผลการควบคุมโรคและอัตราการให้หายของโรค รวมทั้งระยะเวลาที่รอดชีวิตมากกว่าโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่พิ่มขึ้น แต่น่าเสียดายว่าจำนวนผู้ป่วยที่นำมาศึกษานั้น อาจจะมีจำนวนน้อยเกินไป จึงไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นทีมวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มจำนวนจำนวนผู้ป่วยเพื่อการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

โดยความเห็นส่วนตัวของผม การเพิ่มผลการรักษาโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้น ย่อมมีประโยชน์   โดยเฉพาะการที่โรคหายหมด หรือการที่ไม่มีรอยโรคกลับมา เป็นผลต่อจิตวิทยาอย่างมาก รวมทั้งการลดอาการที่สร้างความกังวลใจในผู้ป่วย ผมเชื่อว่าโอกาสการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีนัยสำคัญ หากมีการศึกษาที่มากขึ้น อาจจะเห็นชัดเจนในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่รอยโรคขนาดใหญ่ หรือมีสภาวะขาดออกซิเจนซึ่งมักจะดื้อต่อรังสี หรือ ยาเคมีบำบัด

ดังนั้นการจะใช้ความร้อนหรือไม่ จึงอยู่ในดุลยพินิจและความเข้าใจร่วมระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติที่ต้องเลือกและตัดสินใจครับ              


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น