วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

Thermal Medicine คืออะไร


Thermal Medicine เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่กล่าวกันมากในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะให้ความหมายกันกว้างๆ ก็หมายถึงวิชาทางการแพทย์ที่ว่าด้วยการรักษาโรคด้วยอุณหภูมิ หรือ ความร้อน โดยการจัดการอุณหภูมิของร่างกายหรือเนื้อเยื่อ ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำกว่าร่างกาย เพื่อการรักษาโรค หรือใช้ทางการแพทย์อื่นๆ ซึ่งโดยความเป็นจริงหากย้อนกลับไปอยู่ในระยะช่วงแรกของการรักษาโรคของมนุษย์ยุคโบราณทั่วโลก ได้ใช้ความร้อนและความเย็น เพื่อประกอบกับการรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็นการทำลายเชื้อโรค การรักษาภาวะการชา การสร้างความสมดุลย์ของความร้อนและเย็น เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ การใช้ความเย็นในการเก็บรักษาเซลล์ รวมทั้งการใช้ความร้อนในการรักษาโรคมะเร็ง
                   
ในการวิจัยใหม่ๆช่วงต่อมา มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเรียนรู้เรื่องผลทางทางสรีระวิทยาในระดับเซลล์และโมเลกุลของการปรับเปลี่ยนทางอุณหภูมิ พร้อมทั้งปฏิกิริยาการตอบสนอง พร้อมกับการพัฒนาเครื่องมือที่ปลอดภัย สามารถควบคุมอุณหภูมิในการใช้เพื่อการรักษา ทำให้ทุกวันนี้ มีการใช้เทคนิคการให้ความร้อนในการรักษาโรคต่างๆเพิ่มขึ้น ที่ใช้กันมากได้แก่ Hyperthermia, Thermal Ablation, Cryopreservation  ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์ของการใช้ที่แตกต่างกัน
                  
เทคนิค Hyperthermia ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในกลุ่มแพทย์ที่รักษามะเร็ง มีสมาคมต่างๆมากมาย เช่น ESHO หรือสมาคมแพทย์ในยุโรปที่ใช้ Hyperthermia ในการรักษามะเร็ง หรือ JSHO ในประเทศญี่ปุ่น หรือ The Society for Thermal Medicine  หรือ STM ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะใช้ความร้อนที่สูงกว่าอุณหภูมิของร่างกายร่วมกับยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นการเสริมฤทธิ์กันเฉพาะในก้อนเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของความร้อน หรือยาที่มีความจำเพาะต่อความร้อน ที่เรียกว่า Thermally Sensitive Nanoparticles
                
สำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่นการโตของต่อมลูกหมาก หรือที่เรียกว่า BPH (Benign Prostatic Hyperplasia) สามารถใช้ Hyperthermia ในการลดอาการและขนาดของต่อมลูกหมากได้ กลุ่มผู้ป่วยโรคข้อ เช่น ข้อเข่าอักเสบ หรือแม้แต่การลดความอ้วน ด้วยการใช้ความร้อนที่เกิดจากเครื่องที่มีพลังงานแตกต่างกัน  ในการทำลายเซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง
                 
Thermal Ablation หมายถึงการทำลายหรือสลายเนื้องอกด้วยความร้อน จริงๆแล้ว จะเป็นได้ทั้งความร้อนที่สูง หรืออุณหภูมิที่ต่ำ หรือถึงจุดเยือกแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีใช้ทั่วไปในการรักษาโรคต่างๆกัน เช่น การรักษามะเร็งเฉพาะที่ (Cryoablation, Cryosurgery) หรือการห้ามเลือดในเยื่อบุมดลูก หรือ การแก้ไขการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ โดยมีอุปกรณ์และเครื่องกำเนิดพลังงานที่แตกต่างกัน ได้แก่ Laser, Ultrasound, Microwaves และ Radiofrequency  
                  
Cryopreservation การใช้ความเย็นที่ระดับต่ำกว่า -80 ºC ในการเก็บรักษาเซลล์ให้มีชีวิตอยู่ได้ระยะหนึ่ง เพื่อนำกลับมาใช้-เมื่อจำเป็นในภาย หลัง
                
เมื่อดูในด้านโรคมะเร็ง ได้มีความตื่นตัวและประสบผลสำเร็จในหลายด้าน ที่เด่นชัดคือ การใช้เทคนิค Hyperthermia, Thermal Ablation และ Heat-Activated Drug Delivery   
                      
โดย Hyperthermia (HT) ถูกใช้ร่วมกับรังสีและยาเคมีบำบัด ตั้งแต่ปี 1970 ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมีรายงานการศึกษาที่ได้ผลดีในการใช้ Hyperthermia เพื่อรักษามะเร็งเต้านมที่มีการกลับเป็นใหม่ที่ทรวงอก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งเม็ดสี Melanoma มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม เป็นต้น

ในปัจจุบัน ในบางประเทศ เช่น เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ Hyperthermia เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการรักษา มีรายงานการทดลองหลัก ที่แสดงผลการตอบสนองและเพิ่มผลการรักษา รวมทั้งระยะเวลาควบคุมโรค

จากความก้าวหน้าของารใช้เทคนิคการวัดความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้มีความชัดเจนในการวางแผน เชื่อว่าจะเพิ่มผลการรักษามะเร็ง ในช่วงทศวรรษหน้า
                    
Thermal Ablation ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง มักจะใช้อุณหภูมิที่สูงกว่า 50ºC หรือ ในบางกรณีจะใช้ที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหรือ Freezing Temperatures เป็นการทำลายเนื้องอกที่รวดเร็วในบริเวณที่ต้องการ มีรายงานการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเทคนิคนี้มากกว่า 100,000 คนต่อปี เช่น ตับ ปอด กระดูก   
ทั้งนี้เครื่องมือที่รักษาได้ผ่านการรับรองของ FDA เช่น ที่เรียกว่า High-Intensity Focused Ultrasound (HIFU)  เป็นต้น
                   
Heat-Activated Drug Delivery: เป็นการศึกษาแนวใหม่ที่น่าสนใจ ด้วยยาเคมีบำบัดที่อยู่ในลักษณะ  Thermosensitive Liposome หรือ อนุภาคนาโน ที่ปล่อยยาเคมีบำบัดออกมาที่อุณหภูมิ เหนือ 40 ºC   ทำให้เกิดความจำเพาะบริเวณของยา เข้าสู่เนื้องอก
                    
สำหรับความก้าวหน้าทางเชิงลึกของผลการรักษา หรือผลการรักษา ทั้งทางตรงและทางอ้อมของอุณหภูมิ ต่อ การทำงานของเซลล์  เป็นการศึกษาทางชีวโมเลกุลของอุณหภูมิ โดยเฉพาะการตอบสนอง  ที่แสดงออกในรูปพันธุกรรมและภูมิคุ้มกัน รวมทั้งที่ได้รับความสนใจมาก คือเรื่อง Heat Shock Protein (HSP) จะนำไปสู่มาตรฐานการรักษาทางด้านนี้มากขึ้น   
                    
ท่านที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จาก วารสารของ The Society of Thermal Medicine ที่ชื่อว่า The International Journal of Hyperthermia ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ วารสาร Thermal Medicine Japanese Society for Thermal Medicine ของประเทศญี่ปุ่นครับ

เรียบเรียงจาก What is Thermal Medicine? Society for Thermal Medicine www.thermaltherapy.org




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น