วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวคิดหลักประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในมุมมองที่แตกต่าง สวัสดีปีใหม่ 2559 ครับ


ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่าน คงได้รับพรอันประเสริฐมากมาย ผมขอร่วมเติมเต็มความสุข โดยขอให้สิ่งดีๆที่ท่านจะได้รับ จงปรากฏตามความปรารถนาของท่านทุกประการครับ

1 ปี กว่าที่ผมเขียนเรื่องราวโรคมะเร็งและข่าวความก้าวหน้าทางวิชาการ  ร่วมกับการแสดงความคิดเห็นในบางหัวข้อที่เกี่ยวกับวงการสาธารณสุข

ผมรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมช่วยสังคมตามกำลังอันน้อยนิดของผม

ในวันนี้ ผมขอนำการร่วมจ่าย ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ ที่มีการแสดงความเห็นในมุมมองที่แตกต่างกันมากมาย ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าไม่เกี่ยว หรือเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าทบทวนดีๆ เป็นเรื่องใหญ่มากทั้งตัวงบประมาณ และสุขภาพของประชาชน ในฐานะที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งมายาวนาน ก็ขอร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะทีมสู้มะเร็งนะครับ    

ผมไม่ปฏิเสธว่า หลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ดีจนทั่วโลกอิจฉาและสงสัยว่าเราทำได้อย่างไร   แต่ผมและพวกเราบางส่วน เคยแสดงความกังวลมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าอาจจะมีปัญหาในระยะยาว หากการควบคุมวินัยทางการบริการ และการบริหารทางการเงินไม่ดีพอ เราเคยเห็นการเบิกจ่ายยาของข้าราชการที่เกิดการโป่งของงบประมาณ บางครั้งเปิดช่องทางการทุจริตในรูปแบบต่างๆดังที่เคยเป็นข่าว    นอกจากนี้  ยังมีการขอตรวจขอยาที่ไม่จำเป็น ด้วยความรู้สึกว่า ฟรี เบิกได้ 

บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินว่า รักษาเต็มที่เลยเพราะเบิกได้  จนเกิดคำถามว่าถ้าเบิกไม่ได้ จะไม่รักษาหรือไง   ผมชอบมากที่ระบบเอกชนบางแห่งจะแจ้งผู้ป่วยให้ทราบว่า ยา มี  2 ชนิด คือ ยาต้นตำรับราคาแพง กับยาที่เหมือนกัน แต่ต่างในแหล่งผลิตที่ราคาถูกกว่า บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเลือกยาที่เหมือนแทนยาต้นตำรับ  ในขณะที่ส่วนราชการมักจะเลือกยาต้นตำรับ นั่นเป็นที่มาของบัญชียาหลักแห่งชาติ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ ก็มีส่วนลดงบประมาณของประเทศได้เป็นอย่างดี

การร่วมจ่ายในการรักษาบางรายการที่เกินกว่าข้อบ่งชี้ทั่วไป หรือมีค่าใช้จ่ายสูง หรือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบาย  ก็จะมีการร่วมจ่าย ที่เรียกว่าส่วนเบิกได้และเบิกไม่ได้     

ด้วยสังคมปัจจุบัน การฟ้องร้องเกิดขึ้นบ่อย  หลายครั้งเกิดจากเรื่องที่คาดคิดไม่ถึง เช่นการเจาะเลือด หรือ การเอ็กซเรย์ ในขณะที่อาการยังไม่ชัดเจน ในอดีตเรามักจะอธิบายว่ายังไม่จำเป็น และเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรก็จะยอมรับกัน ทั้งหมอและผู้ป่วย แต่ในปัจจุบันจะมีข้อกล่าวหาว่า ไม่ตรวจเพราะเป็น 30 บาท ทำให้แพทย์ป้องกันตัวด้วยการตรวจไว้ก่อน ทำให้ต้องเสียงบประมาณในการบริการที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น  จึงเกิดปัญหาค่าตรวจรักษาที่ไม่เพียงพอ และพอกพูนขึ้นทุกวัน       

ผมเป็นคนหนึ่งที่ยินดีด้วย ในสวัสดิการที่คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับความทัดเทียมกันในเรื่องการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แต่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงหน้าที่ในการดูแลประเทศของเราด้วย หากมีก็ช่วยกันจ่าย  ไม่ว่าจ่ายก่อน ผ่านระบบภาษี หรือร่วมจ่ายในขณะที่ต้องต้องทำการรักษา แน่นอนที่สุด หากมีความชัดเจนว่าไม่สามารถจ่ายได้ ก็พึงที่รัฐจะเป็นผู้จ่าย

ผมไม่มีตัวเลขในการยืนยันความเหมาะสมว่าจะต้องใช้งบเท่าไรในส่วนนี้ แต่ผมอยากให้ผู้บริหารคิดคำนึงบนพื้นฐานความเป็นจริงมากกว่าประชานิยม หรือแม้แต่คำว่าประชารัฐที่เริ่มใช้กันมากขึ้น ว่าควรจะเป็นเท่าไร และควรบริหารอย่างไร

ผมไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เงินทั้งหมดควรจะไปอยู่ส่วนใดบ้าง นโยบายที่ทุ่มเงินรักษาจนลืมเรื่องวัคซีนป้องกันโรค  เช่น วัคซีนป้องการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือการตรวจคัดกรองโรคต่างๆนั้น ถูกกว่าค่ารักษามากมาย ดูจากในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กว่าเราจะได้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี มะเร็งตับจึงครองอันดับสาเหตุการตายของผู้ชายไทย ซึ่งผลจากวัคซีนนี้ เชื่อว่าจะเห็นผลในเร็วๆนี้
                    
งบประมาณที่ส่งลงไปในเชิงบริการทางด้านอื่นที่ไม่ตรงกับเชิงสุขภาพโดยตรง หรือแม้แต่ข้อกล่าวหาที่ไม่จบในเรื่องการบริหารจัดการ ตลอดจนค่าตอบแทนที่นัยว่าสูง ซึ่งต้องการการตรวจสอบความเหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการที่ดี ไม่ให้มีการจ่ายซ้ำซ้อน หรือ ไม่มีจนขาดขวัญกำลังใจ หรือขาดเจ้าหน้าที่ที่อยู่เวรเพื่อดูแลประชาชน ในประเด็นนี้ อย่าว่าแต่ประชาชนที่ไม่เข้าใจ แม้แต่ในวงการชาวสาธารณสุขทีก็เกิดความขัดแย้งกันอยู่เป็นประจำ
                      
ผมอยากเสนอมุมมองเล็กๆในฐานะผู้ปฎิบัติงานในเรื่อง การร่วมจ่ายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ในมุมมองที่ดี  เช่น

1. การเปิดโอกาสให้ข้าราชการร่วมจ่ายในโรงพยาบาลเอกชนในหัตถการ หรือการผ่าตัดที่กำหนด  ทำให้การรักษามะเร็งบางอย่างสะดวกขึ้น

1.1  ข้าราชการที่พอจะร่วมจ่ายได้ ก็จะได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว
1.2 เปิดช่องว่างในโรงพยาบาลของรัฐสำหรับข้าราชการที่มีข้อจำกัดในการร่วมจ่าย
1.3 การร่วมมือร่วมใช้เทคโนโลยีทันสมัย เครื่องมืออุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนให้คุ้มค่า นำไปสู่ต้นทุนในการรักษาลดลง และเป็นผลต่อค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนที่จะไม่สูงมากนัก  เช่นเครื่องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ค่าห้องผ่าตัด เป็นต้น

ดังนั้นโรคมะเร็งซึ่งต้องการการวินิจฉัยและการรักษาที่เร่งด่วน จะได้ไม่ต้องรอคิวที่ยาวเหยียดในโรงพยาบาลของรัฐได้   
                 
2. โรคมะเร็งที่ต้องการดูแลอย่างใกล้ชิด

2.1 หลายครั้งที่สร้างความลำบากใจให้ญาติที่ต้องการเฝ้าผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ติดขัดอยู่ที่ระเบียบการเยี่ยมหรือการเฝ้าไข้ ในห้องรวม  หากผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพจะอยู่ห้องแยกก็จะมีปัญหา เพราะด้วยกฎที่ไม่มีการเก็บเงินเพิ่ม
2.2 หลายครั้งที่ยาบางอย่าง หรือการรักษาบางอย่างซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่ยังมีข้อจำกัดที่ยังไม่อยู่ในขอบข่ายการเบิกจ่าย
                    
สิ่งเหล่านี้ ทำให้ผลการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ขาดความสมบูรณ์ไป   บ่อยครั้งที่ต้องกัดฟัน ยกเลิกสิทธิประกันสุขภาพไปเลยก็มี
                   
ผมไม่เป็นห่วง ผู้ที่มีกำลังจ่ายในโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ ซึ่งในนั้นมีทั้งข้าราชการที่ร่ำรวย สิทธิประกันสุภาพ สิทธิประกันสังคม    

แต่ผมเป็นห่วงคนจนจริง และประเทศชาติ

ผมไม่เรียกร้องให้กลุ่ม NGO หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชน หรือนักวิชาการที่เห็นต่าง หันมาสนับสนุนในแนวคิดร่วมจ่าย

ผมไม่ยืนยันว่า ระบบหลักประกันของเราจะล้มเหลวเหมือนญี่ปุ่น หรืออังกฤษ

ผมไม่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขต้องฝืนใจประชาชนให้เข้าใจว่า การร่วมจ่ายเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

แต่ผมอยากขอร้อง ให้ทุกกลุ่มพินิจพิเคราะห์  หาทางปรับปรุงให้เหมาะสมกับประชาชน ตามกำลังความสามารถของประเทศ ที่ไม่ถูกใครฉกฉวยประโยชน์ นำไปเป็นผลงาน ประกอบชื่อเสียงเกียรติประวัติ หรือ ผลประโยชน์ส่วนตัว ในจังหวะโอกาสหรืออำนาจที่มีอยู่    
                   
ผมเชื่อมั่นในกระทรวงสาธารณสุขยุคนี้ ที่มีโอกาสอันดีที่จะทำให้ทุกเรื่องให้กระจ่างด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและไม่บิดเบือนตามความคิดของตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นของขวัญที่จับต้องได้ทั้งกายและใจอย่างแท้จริงในปี 2559 นะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น