วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การใช้ความร้อนร่วมในการรักษามะเร็งตับอ่อน (Hyperthermia for Pancreatic Cancer)


ในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา  มะเร็งตับอ่อน เป็นหนึ่งในมะเร็งที่มีอัตราตายสูง แม้จะมีการใช้ยาเคมีบำบัดใหม่ๆในการรักษา แต่ก็ยังได้ผลไม่ดีนักโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งชนิดนี้ มักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก โดยทั่วไป ภาวะเหลืองและอาการปวดมักจะเกิดร่วมกับมะเร็งตับอ่อนส่วนกลางและส่วนหัวที่ลุกลามในเส้นประสาทบริเวณหลัง (Retroperitoneal Nerve Fiber ) บ่อยครั้งจะมีปัญหาในระบบการย่อยอาหาร จากภาวะบกพร่องของเอนไซม์การย่อยจากตับอ่อน นำไปสู่การลดลงของน้ำหนักตัว
พยากรณ์โรคของมะเร็งตับอ่อนไม่ดี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอัตราการอยู่รอดประมาณ 12 เดือน เพราะมักจะผ่าตัดไม่ได้ การรักษาจึงเป็นการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด (Radiotherapy + Chemotherapy) เป็นหลัก แต่ก็มักจะไม่ค่อยได้ผลดีนัก

มีการศึกษาและรายงานผลการใช้ความร้อนหรือ Hyperthermia จากประเทศอิตาลี  ในการประชุม ESHO ( European Society of Hyperthermic Oncology ) หรือสมาคมการใช้ความร้อนเพื่อการรักษาโรคมะเร็งในกลุ่มประเทศยุโรป ประจำปี 2014 โดยเป็นการให้ความร้อนร่วมกับยาเคมีบำบัดในผู้ป่วย 25 คน (Hyperthermia + Chemotherapy) ผลในภาพรวมของกลุ่มนี้มีอัตราการอยู่รอดถึง 16 เดือน เมื่อเทียบกับกับการให้ยาเคมีบัดอย่างเดียวซึ่งจะมีอัตราอยู่รอดเพียง 11 เดือน ที่สำคัญคือมีกลุ่มที่มีชีวิตอยู่มากกว่า 24 เดือนถึง 9 คน หรือคิดเป็น 36 % ทั้งนี้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้นด้วย ผู้รายงานเชื่อว่าวิธีการรักษาดังกล่าว เป็นวิธีที่ดีและเหมาะสม สำหรับในขณะนี้    ซึ่งควรจะมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มผู้ป่วยจำนวนที่มากขึ้น


ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานการใช้ความร้อนหรือ Hyperthermia ร่วมกับยา Gem + ยา Cis ในผู้ป่วยที่เคยได้รับยา Gem มาก่อน จากมหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมัน พบการตอบสนองที่ดีทางคลินิคถึง 45% โดยมีรอยโรคหายหมดในผู้ป่วย  1 ราย และมีอัตราการอยู่รอดเฉลี่ยสูง ถึง 16.9 เดือน

แม้แต่กลุ่มที่รักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับยา เมื่อเปรียบเทียบการได้ความร้อน (Hyperthermia) ร่วมด้วย ก็จะมีผลการรักษาที่แตกต่างกันชัดเจน โดยพบว่ากลุ่มที่ให้ความร้อนร่วมด้วย    เมื่อติดตามผลการรักษาที่ระยะ 12 และ 24 เดือน  มีผู้ป่วยอยู่รอดชีวิต 68% และ 36% ตามลำดับ   ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับความร้อนจะมีเพียง 47% และ 19% ตามลำดับ   ทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างในเรื่องภาวะแทรกซ้อนจากการักษาทั้ง 2 วิธี

แม้ว่าการรักษาจะดีได้ระดับหนึ่ง   แต่ก็นับว่าวงการแพทย์ได้พยายามพัฒนาการรักษามะเร็งตับอ่อน การรักษาด้วยเทคนิคนี้ จึงเป็นหนึ่งในความหวังที่จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน เปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์  ที่เราช่วยกันค้นหา เราจะไม่สิ้นหวัง เราจะสู้ต่อไปครับ
     


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 ตุลาคม 2557 เวลา 08:02

    การรักษาด้วยความร้อนร่วมแล้วทำให้ผลดีขึ้นน่าสนใจนะคะขอให้มีการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลมากยิ่งๆขึ้นค่ะ

    ตอบลบ