วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การตรวจร่างกายด้วยตนเอง ตอนที่ 7: การตรวจบริเวณทรวงอก


ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และตรวจพบความผิดปกติด้วยตนเองได้ง่าย ผู้ที่ให้ความสนใจตรวจด้วยตนเองสม่ำเสมอ จะสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงบริเวณนี้ โดยมักจะพบก้อนขนาดเล็กที่ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก  ทำให้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้

มาเริ่มกันที่ส่วนต่างๆของทรวงอก, การสังเกตุลักษณะและความผิดปกติของเต้านม

ทรวงอกประกอบด้วย ส่วนที่อยู่ภายนอกและภายในทรวงอก ส่วนที่อยู่ภายนอก หมายถึงผิวหนังและเต้านม และส่วนที่อยู่ภายใน หมายถึง ปอด, หลอดอาหาร, หลอดลม, หลอดเลือด, ต่อมน้ำเหลือง, หัวใจ และอวัยวะภายในอื่นๆ  สำหรับอวัยวะที่อยู่ภายในทรวงอกนั้น อาจจะเป็นการยากที่จะตรวจพบได้โดยวิธีการตรวจธรรมดา โดยทั่วไป มักจะวินิจฉัยได้จากอาการตามแต่อวัยวะที่เป็น ยกเว้น ในกรณีที่มีการกระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้าแล้ว ซึ่งก็จะตรวจพบได้ เช่นเดียวกับการตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ

ลักษณะปกติของเต้านม  จะมีรูปร่างกลมรี และมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามอายุ มีส่วนหางเรียวไปทางรักแร้ทั้ง 2 ข้าง ขนาดของเต้านมทั้งสองข้างจะเท่าๆกัน และหัวนมอยู่ในแนวระดับเดียวกัน บางรายอาจมีหัวนมบุ๋มลงไปได้ แต่จะต้องเป็นมาแต่เดิม ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะที่เป็นอยู่ตามปกติ

ในบางคนอาจพบเต้านม หรือพบเพียงหัวนม ในตำแหน่งอื่นๆ ด้วย ตามแนวจากรักแร้มาจนถึงขาหนีบ โดยไม่ถือเป็นความผิดปกติใดๆ เพราะเป็นตำแหน่งของเต้านมที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตในครรภ์ ซึ่งมักจะยุบหายไปตั้งแต่ก่อนคลอด ในบางรายก็จะยังคงอยู่ และยังอาจพบการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์ฮอร์โมนเช่นเดียวกับเต้านมปกติ  สำหรับตำแหน่งที่พบบ่อยนั้น มักจะเป็นในเต้านมข้างซ้าย เมื่อแบ่งเป็น 4 ส่วน จะเป็นส่วนด้านนอกทางตอนบน ถ้าพบความผิดปกติหรือสงสัยควรได้รับการตรวจยืนยันจากแพทย์จะเป็นการดีกว่าครับ

ควรตรวจเต้านมช่วงเวลาใดของเดือน

วันที่ควรตรวจเต้านม คือ วันสุดท้ายของการมีประจำเดือนทุกเดือน เนื่องจากในช่วงต่างๆ ของรอบเดือน ขนาด รูปร่าง และความตึงตัวของเต้านม จะมีลักษณะผิดแผกเล็กน้อย อันเป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย

วิธีการตรวจ

ภาพวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ท่าต่างๆ

สังเกตุได้โดยการดู ตรวจโดยการดูในกระจก ซึ่งควรถอดเสื้อออกหมดทุกครั้ง
ท่า A คือ ท่ายืนธรรมดา ไหล่ตรง แขนแนบลำตัว สังเกตขนาดและรูปร่างของเต้านมเปรียบเทียบกันทั้งสองข้าง ดูสีผิว หรือการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณเต้านมและหัวนม

ท่า B ยกมือประสานกันทางด้านหลังของศีรษะ หรือยกมือสูงเหนือศีรษะ โน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย สังเกตดูลักษณะเช่นเดียวกันกับท่ายืน แต่จะแสดงส่วนล่างของเต้านมได้มากขึ้น อาจเห็นลักษณะนูนที่ผิดปกติ หรืออาจจะมีรอยบุ๋มที่เกิดจากการดึงรั้งของก้อนชัดขึ้น

ท่า C ใช้มือทั้งสองเท้า สะเอว หรือวางมือทั้งสองลงบนสะโพก สังเกตดูการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับ 2 ท่าแรก 

โดยการคลำท่า D และ ท่า E ตรวจได้ขณะที่อาบน้ำหรือถูสบู่ จะทำให้คลำได้ความรู้สึกดี และชัดเจนมากขึ้น หรือจะตรวจขณะที่นอนหงายและใช้หมอนหนุนบริเวณสะบัก เพื่อให้หน้าอกข้างที่ตรวจแอ่นขึ้น และเต้านมจะแบนราบทำให้ง่ายต่อการตรวจ

ในการตรวจ ใช้นิ้ว 4 นิ้วคลำดังรูป ไม่ควรใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือหรือการตรวจแบบขยุ้ม เพราะจะคลำได้ก้อนเนื้อต่อมน้ำนม ซึ่งอาจเข้าใจผิดว่าเป็นก้อนเนื้องอกได้ แต่การตรวจบ่อยๆ จะทำให้รู้สึกคุ้นเคยในการตรวจครั้งต่อๆ ไป

ท่า F บีบบริเวณหัวนมเบาๆ เพื่อดูว่ามีสิ่งผิดปกติ เช่น เลือดหรือน้ำเหลืองออกมาจากหัวนมหรือไม่

ลักษณะความผิดปกติที่อาจพบ และควรรีบปรึกษาแพทย์ ได้แก่

1.มีก้อนในเต้านม อาจมีอาการเจ็บด้วย
2.การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น มีบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นขรุขระขึ้น รูขุมขนหยาบ มีลักษณะบวมเป็นหย่อมๆ คล้ายผิวส้มโอหรือผิวมะกรูด หรือมีหลอดเลือดมากผิดปกติ มีรอยบุ๋มของผิวหนัง มีการเปลี่ยนแปลงของหัวนมปกติไปเป็นหัวนมบอด
3.หัวนมหรือเต้านมสองข้างอยู่ในระดับไม่เสมอกัน
4.มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกจากหัวนม

หากตรวจพบสิ่งที่น่าสงสัย ควรเข้ารับการตรวจเพื่อการวินิจฉัยทันที 

การตรวจเต้านมด้วยตนเองนี้ ถือเป็นมาตรฐานสำคัญในคำแนะนำการตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกที่มีความสำคัญที่สุด แต่ในกรณีที่มีประวัติในครอบครัว มีมารดาหรือพี่น้องที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือ อยู่ในวัยที่เหมาสมในการตรวจ คือ อายุ 35 ปี ก็อาจจะพิจารณาตรวจด้วยการเอกซเรย์เต้านม (Mammography)  ซึ่งจะมีข้อแนะนำความถี่ของการตรวจที่แตกต่างกัน  โดยเฉพาะเมื่อพบความผิดปกติ  ซึ่งจะมีแนวทางปฏิบัติตามชนิดของการตรวจพบ

ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health
ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยอันดับหนึ่งในสตรีไทย หมั่นตรวจเช็ค และใส่ใจสักนิด ท่านจะปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม หรือสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีครับ

                    


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 ตุลาคม 2557 เวลา 04:55

    บทความที่มีประโยชน์เข้าใจง่ายมากชอบมากขอบคุณคะ

    ตอบลบ