วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี เทคนิค IMRT


การรักษาโรคที่พวกเราคุ้นเคยกันดี คือ การรักษาทางยา (Medicine) และการผ่าตัด (Surgery) พอแพทย์อธิบาย ผู้ป่วยก็จะเข้าใจ และสามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง แต่เมื่อเอ่ยถึงเรื่องการฉายรังสี (Radiation) ทุกคนก็จะเริ่มไม่แน่ใจ ว่า การรักษาจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไร เจ็บปวดหรือไม่ ประกอบกับความรู้สึกเดิมที่เคยเห็นมา ในผู้ป่วยที่ฉายรังสี จะมีผิวหนังคล้ำ ดำ บางรายอาจจะเป็นแผลถลอก หรือ บางรายอาจจะผมร่วง    ทำให้ผู้ป่วยสับสน และมักจะถอยไปหนึ่งก้าวเพื่อตั้งหลักก่อนรับการรักษา

ภาพประกอบจาก : http://newsroom.varian.com/image-gallery?mode=gallery&cat=2477

ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา วงการแพทย์ไทยได้มีการยกระดับการรักษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะเรื่องรังสีมะเร็งวิทยาได้มีการพัฒนาจนทำให้มีเครื่องมือการรักษากระจายสู่ภูมิภาคอย่างรวดเร็ว และมีความก้าวหน้ามากขึ้น  ด้วยการเปลี่ยนจากการฉายรังสี ด้วยเครื่องโคบอลท์ และการฉายรังสี 2 มิติ เป็นการฉายรังสี 3 มิติ ทั้งนี้เครื่องฉายรังสีแบบเดิม ยังคงมีบทบาทของการใช้ที่มีข้อดีอีกมากในบางกลุ่ม หรือ บางมุมของการบริหารจัดการเครื่องมือ  แต่วันนี้ เราจะก้าวข้ามมาเรื่องรังสี 3 มิติ ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้วว่า มีผลการรักษาที่ดี เพิ่มอัตราการอยู่รอด และลดภาวะแทรกซ้อน ในหลายโรค หลายตำแหน่ง ทำให้มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน และในปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้เบิกค่ารักษาได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีวัตถุประสงค์ของการรักษา เพื่อเป็นการรักษาให้หายขาด ยกตัวอย่างเช่น การฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งเต้านม โดยเฉพาะเต้านมทางด้านซ้าย ที่สามารถลดปริมาณรังสีที่มีต่อปอดและหัวใจได้อย่างชัดเจน     
 
การฉายรังสี 2 มิติ ในอดีต ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าของลำรังสีในด้านตรงข้าม เช่น หน้า หลัง หรือ ซ้าย ขวา หากมีอวัยวะสำคัญอยู่หลังต่อเป้าหมายที่เราจะให้รังสี ก็จะถูกรังสีไปด้วย แต่ หากเป็นรังสี 3 มิติ จะมีการวางแผนโดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และกำหนดแนวรังสีในทิศทางที่จะหลบอวัยวะสำคัญที่อยู่ด้านหลังของเป้าหมายได้ เครื่องวางแผนการรักษา ก็จะเป็นตัวรวมปริมาณรังสีจากแต่ละทิศทาง เพื่อให้ได้รังสีที่ครอบคลุมเป้าหมาย ด้วยที่มีความแม่นยำสูงในขั้นตอนการฉายรังสี และการจำลองลำรังสี จึงมักต้องใช้เครื่องยึดตรึงไม่ให้ขยับ เช่นการทำหน้ากาก เพื่อยึดส่วนศีรษะและลำคอเป็นต้น

IMRT เป็นหนึ่งในรังสี 3 มิติที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ด้วยเหตุที่ลำรังสีในอดีตที่เข้าในหลายทิศทางของรังสี 3 มิติทั่วไป จะมีความสม่ำเสมอของรังสีทั้งแนวของลำรังสี แต่หากเนื้องอกนั้นเป็นรูปกรวย ลำรังสีของรังสี 3 มิติ จะเป็นรูปทรงกระบอก ก็จะมีส่วนที่ได้รับรังสีเกินอยู่บ้าง การกระจายของรังสีในก้อนเนื้องอกก็จะไม่สม่ำเสมอ  แต่หากเป็นเทคนิค IMRT  ลำรังสี ก็จะมีการกระจายที่เป็นรูปกรวย เพราะจะมีการคำนึงถึงความหนาของเนื้องอกด้วย    ทั้งนี้ต้องอาศัยเครื่องวางแผนและเครื่องฉายรังสี ที่จะปรับปริมาณรังสีเป็นจุดๆ ตามความหนาของเนื้องอก

ด้วยเทคนิคที่กล่าวข้างต้น ก็จะให้ความสม่ำเสมอของการกระจายของรังสีในก้อนเนื้องอก สามารถให้ปริมาณรังสีที่สูง เพิ่มผลการรักษา โดยมีความปลอดภัยต่อเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษา เช่นในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ท่านผู้อ่านคงจะมั่นใจได้ว่าเทคนิคในการฉายรังสีในปัจจุบัน มีความแม่นยำ ปลอดภัย และได้ผลการรักษาที่ดี  ส่วนผู้ป่วยใดจะเหมาะกับการใช้เทคนิคไหนขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น และอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์  ดังนั้นควรปรึกษาในรายละเอียดกับแพทย์ผู้รักษานะครับ              
    

              

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น