วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

กรณีศึกษาในผู้ป่วย (ตอนที่ 2)


-ต่อจาก กรณีศึกษาในผู้ป่วยมะเร็ง (ตอนที่ 1)-

จากได้ภาพเอกซเรย์ปอดแล้ว
                  
สิ่งที่ทีมแพทย์ คิดกัน คือ จะอธิบายผู้ป่วย และญาติอย่างไร
                
จะขอตรวจอะไรต่อไปดี เพื่ออะไร...
                 
ด้วยเหตุที่ผู้คนทั่วไปกลัวเรื่องมะเร็งอยู่แล้ว ถ้าบอกสิ่งที่คิดกังวลอยู่ในใจของแพทย์ออกไปตรงๆ ผู้ป่วยคงตกใจมาก อาจจะเลิกตรวจรักษาเลย แต่ไม่บอกอะไรก็ไม่ได้ นอกจากจะต้องเข้าใจ เห็นใจ ในการรอคอยคำวินิจฉัยแล้ว ยังเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องทราบผลการตรวจอีกด้วย
                   
ตอนนี้เป็นความสำคัญที่ผมอยากจะบอกว่า แพทย์ ต้องไม่รีบร้อนในการวินิจฉัยแยกโรค ให้ผู้ป่วยฟังว่า จะเป็นอะไรได้บ้าง เพราะ คำว่ามะเร็ง เป็นคำวินิจฉัยที่ยิ่งใหญ่ และมีผลอย่างมากต่อความรู้สึก แม้แต่คำว่า สงสัย มีโอกาส ก็มีความกังวลมากมายแล้ว (หาอ่านได้ในบทความที่เคยลงมาแล้วใน blog นี้) ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยอย่ากดดันให้แพทย์ ต้องเข้าสู่ทางตันในการอธิบาย เปิดโอกาสให้แพทย์ ได้ค้นหา ความจริง และเมื่อชัดเจนแล้ว เชื่อว่าแพทย์ไม่มีใครปิดบังท่าน ตอนนั้นค่อยมาปรึกษาเรื่องการรักษากัน
                 
ในผู้ป่วยรายนี้ เมื่อการตรวจร่างกายไม่พบสิ่งที่ผิดปกติ แต่ผลเลือดและเอ็กซเรย์มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูง ต้องหาการตรวจที่จะให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอน  ซึ่งในรายนี้ คือ การส่องกล้องในปอดเพื่อดูพยาธิสภาพในปอด  และตัดชิ้นเนื้อในบริเวณที่สงสัย หรือ ล้างเซลล์ ในหลอดลมออกมา เพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา
                  
ในที่สุด ทีมแพทย์ก็ตัดสินใจบอกกับผู้ป่วยว่าจะปรึกษาแพทย์ทางโรคปอด มาดูเรื่องการอักเสบ และให้การรักษา ทางด้านปอดอักเสบที่เห็นก่อน โดยไม่ได้บอกการวินิจฉัยแยกโรคเรื่องมะเร็ง เพราะดูจะเกิดผลเสียมากกว่า ดังนั้น การรักษาในคืนแรกในโรงพยาบาลเราจึงให้ผู้ป่วยได้พักผ่อน และแก้ไขภาวะขาดน้ำ  ที่เกิดจากการที่กินอาหารได้น้อย

พร้อมกันนั้น ก็พยายามที่จะเล่าเรื่องการส่องกล้องตรวจในปอด ที่อาจจะช่วยให้ทราบว่าเป็นเชื้ออะไรได้ดีกว่าการตรวจเสมหะ 
                
แค่นี้ผู้ป่วยก็เริ่มกลัว และทำท่าจะปฏิเสธ 
                
เราก็เริ่มเสนอวิธีการ Non Invasive หรือวิธีการตรวจที่ง่ายและผู้ป่วยคุ้นเคย คือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ป่วยตอบรับง่ายขึ้น แต่ในครั้งนี้เราได้เสนอการตรวจเพทสแกน (PET Scan) โดยอธิบายว่า เป็นการตรวจที่สามารถดูได้ทั้งร่างกาย ว่ามีการอักเสบมากน้อยแค่ไหน โดยได้อธิบายเพิ่มเติมอย่างกว้างๆว่า เซลล์ที่แบ่งตัวหรืออักเสบ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานทั้งนั้น โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ TB หรือวัณโรค เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้มาก และมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลด เช่นเดียวกัน

เราไม่อาจเดาใจผู้ป่วยได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร ในที่สุดผู้ป่วยยอมรับการเตรียมการตรวจ PET/CT ในวันรุ่งขึ้นได้
                 
วันที่ 2 ผู้ป่วยได้รับการตรวจตามกระบวนการ ซึ่งใช้เวลา 2 ชั่วโมง ผมไปพบผู้ป่วยซึ่งดูกังวล และอ่อนเพลียมาก โดยเห็นรูปผลของ PET  ดังรูป


                    
ท่านจะเห็นได้ว่ามีจุดดำที่กระจายในปอดจำนวนมากมาย ซึ่งเป็นบริเวณที่ผิดปกติ ซึ่งสร้างความกังวลไม่น้อยทีเดียว
                    
แต่ในข่าวร้ายก็มีข่าวดี ที่ได้รับรายงานว่าตอนกลางคืน ผู้ป่วยไอเป็นเลือด และมีไข้มากกว่า 39 องศา จึงได้รับการส่งตรวจเสมหะ เพาะเชื้อ และส่งตรวจหาวัณโรคด้วย
                     
เหตุที่ว่าเป็นข่าวดีด้วย คือโดยทั่วไป มะเร็งจะทำให้มีไข้ได้ แต่เป็นไข้ต่ำๆ ในระดับ 38 องศา การมีไข้สูงจะทำให้โอกาสเป็น นิวโมเนีย หรือ ปอดอักเสบมากขึ้น
                    
ติดตามอ่านตอนต่อไปใน กรณีศึกษาในผู้ป่วย (ตอนที่ 3) นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น