วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

ลดความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยการกำจัดเชื้อ Helicobacter Pylori



ภาพประกอบจาก: http://primaldocs.com/members-blog/do-you-have-an-h-pylori-infection/#!lightbox[gallery]/0/

บทความนี้ผมอยากจะพูดถึงการการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยการกำจัดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร  (Helicobacter Pylori ) หรือ เอช.ไพโลไร  

ผมได้รับคำปรึกษาผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วยท่านหนึ่ง ในการตรวจกระเพาะอาหาร และพบเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงรวบรวมมาเล่าให้ฟังง่ายๆดังนี้ 

โรคกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกทั่วไปว่า โรคแผลเปปติค (Peptic Ulcer) เป็นโรคยอดฮิตโรคหนึ่งในสังคมไทย หมายรวมถึงโรคที่มีแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ( Duodenal Ulcer) หรือ การอักเสบของ เยื่อกระเพาะอาหาร (Gastritis) โรคต่างๆเหล่านี้จะมีอาการที่คล้ายกันกับ โรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรก คือ ท้องอืด จุกเสียด รู้สึกอาหารไม่ย่อย ปวดและไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร 
  
ส่วนหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆโดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อยารับประทานเอง ในกลุ่มที่เป็นเรื้อรัง  ถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนโรคมะเร็งกระเพาะอาหารนั้น จะมีอาการกำเริบมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกินอาหารได้น้อย น้ำหนักลด หรือ อาเจียนเป็นเลือด

วันนี้ ผมจะไม่พูดถึงวิธีรักษาโรคกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่พบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ เช่น เพศชาย มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มากกว่าเพศหญิง 2 เท่า การมีประวัติครอบครัว เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร  พฤติกรรม ชอบรับประทาน อาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม รมควัน    เป็นต้น แต่ปัจจัยสำคัญที่จะพูดถึงคือ เชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งทีชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช.ไพโลไร (Helicobacter Pylori)  ซึ่งเป็นสาเหตุร่วมกันของการอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น    

เชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ถูกพบมากว่าร้อยปีแล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2526 แพทย์ชาวออสเตรเลีย 2 ท่าน คือ Barry Marshall  และ Robin Warren ได้พบว่าเชื้อนี้มีความสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงการเกิดโรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น สูงถึง 6-40 เท่า และมีโอกาสเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร เพิ่มขึ้น 2-6 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติที่ไม่มีการติดเชื้อ     

การตรวจวินิจฉัย สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร การเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ เอช.ไพโลไร การตรวจทางลมหายใจ (Urea Breath Test) และการตรวจอุจจาระ เพื่อหาแอนติเจน ของ เอช.ไพโลไร ซึ่งแต่ละวิธี ก็จะมีข้อบ่งชี้และประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่การส่องกล้อง เพื่อตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ทำให้เห็นแผลได้ชัดเจน และสามารถตัดเนื้อเยื่อบริเวณกระเพาะ เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ในการแยกโรคมะเร็งและโรคกระเพาะอาหารอักเสบ  พร้อมทั้งหาเชื้อ เอช.ไพโลไรได้อีกด้วย

การรักษา สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือ ตรวจพบแผลในกระเพาะอาหารร่วมกับการตรวจพบเชื้อ H.pylori การกำจัดเชื้อ จะช่วยรักษาแผล และยังช่วยป้องกันการเกิดแผลซ้ำ อีกทั้งลดโอกาส การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผล  เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร และแน่นอนที่สุด ยังเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย การรักษาที่นิยมใช้กันมาก  และมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ การใช้ยาลดการหลั่งกรด ในกลุ่ม Proton Pump Inhibitor  หรือ PPI ซึ่งจะช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจากการติดเชื้อหายเป็นปกติ เช่น  Lansoprazole, Omeprazole, Pantoprazole, Rabeprazole และ Esomeprazole  เป็นต้น โดยใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอีก 2 ชนิด เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ พบว่าสามารถกำจัดเชื้อได้มากกว่า 90% และโอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำก็ลดลง จาก 80% เหลือ 10% ทำให้เพิ่มโอกาสหายขาด
   
ข้อบ่งชี้ในการดูผลการรักษา คือการตรวจไม่พบเชื้อ เอช.ไพโลไร หลังจากหยุดการรักษาแล้ว 4 สัปดาห์  หากยังพบเชื้ออยู่  จะต้องรักษาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชนิดยาปฏิชีวนะที่ให้ หลังจากนั้นก็จะตรวจซ้ำเช่นเดิม หากยังไม่หาย ต้องมีการนำเชื้อแบคทีเรียไปเพาะเชื้อ เพื่อทดสอบความไวของยาปฏิชีวนะต่อเชื้อ

ด้วยเหตุที่สูตรการรักษา ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง ผมจึงนำบทความ จาก UpToDate  ที่มีการทบทวนเมื่อ เดือนธันวาคม  2015  เรื่องสูตรการรักษาสำหรับ เชื้อ Helicobacter Pylori เรียบเรียงโดย Sheila E Crowe, MD, FRCPC, FACP, FACG, AGAF ในบทความนี้กล่าวว่า ไม่มีความชัดเจนของสูตรการรักษาที่ดีที่สุด โดยมีทั้งเรื่องราคา ผลข้างเคียง การดื้อยาที่เป็นปัจจัยสำคัญใน การเลือก   ดังนี้

"Triple therapy with a proton pump inhibitor (PPI) should be used in areas where clarithromycin resistance is low (<15 percent). In the United States, given the limited information on antimicrobial resistance rates, we generally begin treatment with triple therapy with a PPI. However, in patients with recent or repeated exposure to clarithromycin or metronidazole or when clarithromycin resistance is high (15 percent), quadruple therapy should be used to treat H. pylori  

Triple therapy — The regimen most commonly recommended for first line treatment of H. pylori is triple therapy with a PPI (Lansoprazole 30 mg twice daily, Omeprazole 20 mg twice daily, Pantoprazole 40 mg twice daily, Rabeprazole 20 mg twice daily, or esomeprazole 40 mg once daily), amoxicillin (1 g twice daily), and Clarithromycin (500 mg twice daily) for 7 to 14 days. We suggest treatment for 10 days to two weeks. A longer duration of treatment (14 versus 7 days) may be more effective in curing infection but this remains controversial. A meta-analysis suggested that extension of PPI-based triple therapy from 7 to 14 days was associated with a 5 percent increase in eradication rates . Most studies included were based upon amoxicillin-based triple therapy."
                     
นับเป็นความก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร และลดความเสี่ยงจากมะเร็งกระเพะอาหาร โปรดปรึกษาแพทย์นะครับ ถ้าโรคกระเพาะท่านเป็นๆหาย ตรวจและกำจัดเชื้อ เอช ไพโรไล ก่อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเราครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น