วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กลยุทธ์ใหม่ของการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรงในระยะลุกลาม ด้วย Hyperthermia


ภาพประกอบจาก: http://healthcare.utah.edu/huntsmancancerinstitute/cancer-information/cancer-types-and-topics/colorectal-cancer.php

การรักษามะเร็งเร็คตัม หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง จะแตกต่างจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนอื่น ที่มักจะมีปัญหาเรื่องการกลับเป็นใหม่เฉพาะที่ ดังนั้น การรักษามาตรฐาน โดย National Comprehensive Cancer Network Practice Guidelines ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรงระยะที่ 2,3 คือ Neoadjuvant Chemoradiotherapy (CRT) หรือ การฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ก่อนการผ่าตัด

กลยุทธ์ใหม่ที่มีการศึกษานั้น มีรายงานการใช้ตั้งแต่ปี คศ. 2000 และมีรายงานในวารสารทางการแพทย์มาแล้วโดย SERGIO MALUTA  จาก University Hospital, Verona, Italy เรื่อง Regional Hyperthermia Added to Intensified Preoperative Chemo-Radiation in Locally Advanced Adenocarcinoma of Middle and Lower Rectum  ด้วยการนำความร้อนมาร่วมรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธผลของการฉายรังสีและยาเคมีบำบัด อีกทั้งได้ศึกษาความปลอดภัยของการใช้ร่วมกันทั้ง 3 วิธี ก่อนผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรงในระยะลุกลาม (Locally Advanced <cT3-4 N0/þ> Rectal Adenocarcinoma) โดยเริ่มในปี 2000 ถึงปี  2006 ในจำนวนผู้ป่วย 76  ราย  

ความร้อน หรือ Hyperthermia จะถูกใช้ในการรักษาร่วมหลังการฉายรังสี 1-4 ชั่วโมง โดยให้สัปดาห์ละ ครั้งเป็นเวลา 5 สัปดาห์ พร้อมกับ การฉายรังสี 50 Gy ใน 5สัปดาห์ พร้อมทั้งเพิ่มเติมอีก 10 Gy ในตำแหน่งรอยโรคโดยให้ 5FU 200 mg/m2 และ Oxaliplatin 45 mg/m2 ทุกสัปดาห์

ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดภายใน 4 - 6 สัปดาห์ หลังการรักษาครบด้วยความร้อน รังสี และยาเคมีบำบัด ผลการรักษาพบว่า  ผู้ปวยทนต่อการรักษาได้ดี โดยมีผลการตอบสนองที่ดูจากพยาธิวิทยาหลังผ่าตัด พบว่า  pCR  หรือ ผลพยาธิวิทยา ไม่พบเซลล์มะเร็ง 18 ใน 76 ราย คิดเป็น  23.6% ส่วนที่ตอบสนองแต่ยังพบเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ (Partial Response หรือ PR) พบถึง 34ใน 76 รายหรือเท่ากับ 44.7 % ทั้งนี้ กลุ่มที่ตอบสนอง โดยรอยโรคหายหมดทางพยาธิวิทยา จะมีอัตราการอยู่รอด ที่ดีแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

แนวทางการรักษานี้เป็นที่น่าสนใจ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องมือ แนวทางการรักษามาตรฐาน จึงยังเป็นการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ในปีนี้ มีรายงานที่น่าสนใจโดย Hisanori Shoji และคณะ ที่ลงในวารสาร Cancer Medicine หน้า 834–843 เมื่อเดือน มิถุนายน  ปี2015  เรื่อง A novel Strategy of Radiofrequency Hyperthermia (Neothermia) in Combination with Preoperative Chemoradiotherapy for the Treatment of Advanced Rectal Cancer ซึ่งรายงานการศึกษาความปลอดภัยในการใช้ความร้อน (Hyperthermia) ร่วมรักษากับยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี โดยให้ความร้อนสัปดาห์ละครั้ง ด้วยเครื่องคลื่นวิทยุ (Radiofrequency หรือ  RF) ความถี่  8 MHz ในผู้ป่วย 49 ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง (Rectal  Adenocarcinoma) การรรักษาประกอบด้วยการฉายรังสี  ด้วยเทคนิค Intensity-Modulated Radiation Therapy (IMRT) 5 วันต่อสัปดาห์ ในปริมาณรังสีรวม 50 Gy ร่วมกับยาเคมีบำบัด  Capecitabine (1700 mg/m2 per day) 5 วันต่อสัปดาห์ และ ความร้อน สัปดาห์ละครั้ง รวม 5 ครั้ง ใน 5 สัปดาห์   

ผู้ป่วย 33 ราย จาก 49 รายได้รับการผ่าตัดภายใน 8 สัปดาห์ พบว่า 8 ราย หรือ 16.3% ผลพยาธิวิทยา ไม่พบเซลล์มะเร็งเหลืออยู่ 

ส่วนกลุ่มที่ไม่ผ่าตัดนั้น พบว่า 3 ราย ไม่ได้รับการผ่าตัด เนื่องจากการลุกลามของโรค ส่วน 13 รายปฏิเสธการผ่าตัด ซึ่งกลุ่มนี้ พบว่ารอยโรคทางคลินิค (Clinical Complete Response หรือ CR) หายหมด 3 ราย (6.1%)  และอีก 3 ราย(6.1%) ที่รอยโรคเฉพาะที่หายหมด แต่มีการกะจายของโรคไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ

จากทั้ง 2 รายงาน แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัย และผลการรักษาที่ดีจากการให้ความร้อน ร่วมกับยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ทดแทนการผ่าตัด ดังนั้นในการรักษาที่มุ่งหวังให้หายขาด การรักษาด้วยการผ่าตัด ร่วมกับการฉายรังสีและยาเคมีบำบัด จะเป็นมาตรฐาน แต่ การศึกษาเปรียบเทียบ โดยการเพิ่มความร้อน หรือ Hyperthermia จะเป็นที่น่าสนใจ ในการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่มีรอยโรคหายหมด จากผลทางพยาธิวิทยา ซึ่งน่าจะส่งผลต่ออัตราการอยู่รอด และการควบคุมโรคเฉพาะที่

ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ด้วยข้อจำกัดใด หรือ ผู้ป่วยที่มีการกระจายไปตับ หรือ ปอด และไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว การใช้ความร้อน ก็อาจจะช่วยเพิ่มอัตราการควบคุมโรคได้ ซึ่งน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิผลรักษาในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง  การศึกษาต่อเนื่องน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์เมื่อมีการพัฒนาของเครื่องมือมากขึ้น






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น