วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รักษามะเร็งด้วย รังสีศัลยกรรม หรือ การผ่าตัดด้วยรังสี (Radiosurgery)


ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินเทคนิคการรักษา  หรือ เห็นชื่อหน่วยงานว่า รังสีศัลยกรรม ในภาควิชารังสี   ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมากในระยะหลัง  โดยมีความหมายเริ่มแรก มาจากคำว่า Radiosurgery  หรือ การผ่าตัดด้วยรังสี 

โดยทั่วไปการฉายรังสีมาตรฐาน จะเป็นการแบ่งฉายหลายๆครั้ง ในบางโรคมีการฉายถึง 35 ครั้ง กินเวลาการรักษา 6-7 สัปดาห์ เนื่องจากการฉายรังสีด้วยเทคนิคเดิม ยังไม่สามารถจำกัดรังสีเฉพาะเนื้องอกได้ การวางแผนยังเป็นระบบ 2 มิติ ทำให้ต้องมีการฉายรังสีเป็นบริเวณกว้าง และมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติค่อนข้างมาก จึงอาศัยหลักการทางรังสีชีววิทยา ในการแบ่งปริมาณรังสีเพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยให้ก้อนเนื้องอกได้รับผลจากรังสีสูงสุด

ที่มาภาพประกอบ: http://www.mayfieldclinic.com/PE-RadiosurgeryBrain.htm

ในระยะแรกของการใช้เทคนิค การผ่าตัดด้วยรังสี ใช้ในใรคทางสมองและฐานกะโหลกศีรษะ เพราะเป็นอวัยวะที่สามารถยึดตรึงให้อยู่กับที่ได้ ด้วยเครื่องยึดตรึงต่างๆกัน  นำมาซึ่งความแม่นยำในการยิงรังสี 

เนื่องจากการผ่าตัดรักษาเนื้องอกในบริเวณสมอง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง ประสาทศัลยแพทย์ชาวสวีเดน ชื่อ Lars Leksell จึงคิดค้นเทคนิคการฉายรังสี และเป็นผู้นำในการรักษาด้วยเทคนิคนี้  ที่เรารู้จักกันดี ในชื่อแกมม่าไนฟ์ (Gamma-Knife)  เนื่องจากใช้รังสีโคบอลท์ และพัฒนาต่อมาเป็น X-Knife   ที่ใช้เครื่องเร่งอนุภาค ในขณะนั้นจึงเกิดคำว่า Radiosurgery หรือ การผ่าตัดด้วยรังสี  ซึ่งเรียกต่อมาเป็นรังสีศัลยกรรม เนื่องจากทดแทนการผ่าตัด การรักษาเทคนิคนี้มีข้อดี คือ ไม่ต้องผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สามารถใช้ได้ในโรค กลุ่มเส้นเลือดผิดปกติ AVM กลุ่มมะเร็งในสมอง เช่นประสาทเส้นที่ 8 หรือเส้นประสาทหู เป็นต้น

ต่อมาได้พัฒนาหลักการนี้มาใช้ในอวัยวะที่ต่ำลงมาในทรวงอก, ช่องท้อง และที่อื่นๆ ด้วยเหตุที่เป็นระบบ 3 มิติ ที่มีความแม่นยำในการฉายรังสีสูง  โดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพจำลอง สามมิติ กำหนดตำแหน่ง และ คำนวณปริมาณรังสีตามขนาดและพยาธิสภาพขนาด ทำให้สามารถรักษาด้วยการยิงรังสีเพียงครั้งเดียว จึงเป็นเทคนิคที่เรียกว่า รังสีร่วมพิกัด หรือ Stereotactic Radiotherapy

ด้วยความแตกต่างในอวัยวะและชนิดของเนื้องอก รังสีร่วมพิกัด หรือ Stereotactic Radiotherapy จึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ตามปริมาณรังสี และจำนวนครั้งของการให้รังสี คือ

1. Stereotactic Radiosurgery  เป็นการฉายรังสีโดยให้ปริมาณรังสีสูงมากเพียงครั้งเดียว
2. Stereotactic Radiotherapy  เป็นการฉายรังสีโดยให้รังสีปริมาณน้อยต่อครั้ง เป็นจำนวนหลายครั้ง

ด้วยความก้าวหน้าของทั้ง 2 เทคนิคนี้ จึงเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการรักษาโรคมะเร็ง จากการผ่าตัด มาเป็นการรักษาด้วยรังสี ด้วยเหตุผลต่างๆดังนี้

1. พยาธิสภาพในสมองทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง Arteriovenous Malformation (AVM) เนื้องอกสมองชนิดต่างๆ มะเร็งที่แพร่กระจายมาที่สมอง/มะเร็งบริเวณฐานสมอง

2. เพิ่มผลการรักษาในมะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งกระจายที่สมอง มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก

3. เพิ่มโอกาสการรักษาในมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาได้ในอดีต เช่น มะเร็งตับ ตับอ่อน

4. เพิ่มโอกาสในการรักษา โรคที่กลับเป็นใหม่ภายหลังการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน

การรักษาทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษาและนักฟิสิกส์การแพทย์ เพื่อคำนวณและควบคุมปริมาณรังสี

แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่า การรักษามะเร็งต้องเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ ทุกเทคนิคการรักษา มีข้อบ่งชี้  ข้อดีที่แตกต่างกัน ปรึกษาแพทย์ ผู้รักษาให้รอบคอบในการเลือกเทคนิคการรักษานะครับ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น