วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

แนวทางหนึ่งในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง (CA Rectum)


การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรงที่อยู่ในระยะโรค T2-3N0-2M0 (ระยะที่โรคลุกลามเกินกว่าชั้นเยื่อบุ   โดยอาจจะมีต่อมน้ำเหลืองโต หรือไม่ก็ได้ และยังไม่มีการแพร่กระจายของโรคไปที่อื่น) จะเป็นการผ่าตัด ร่วมกับการใช้ยาและรังสี โดยจะเป็นการให้ก่อน หรือ หลังการผ่าตัด ทั้งนี้กลุ่มที่ให้ก่อนการผ่าตัดนั้น  ยังมีความมุ่งหวังที่จะรักษาหูรูดไว้ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้ถุงอุจจาระที่หน้าท้อง
                    
วันนี้ผมจะกล่าวถึงแผนการรักษา อันเป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกแก่ผู้ป่วยซึ่งอาจจะเป็นแนวทางมาตรฐานในอนาคต
                    
จากรายงานการศึกษาของ Rasulov AO สถาบันวิจัย N.N. Blokhin Russian Cancer Research Center ประเทศรัสเซีย โดยการให้ความร้อนเสริมในการการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนตรงที่มีการฉายรังสีร่วมกับยาก่อนการผ่าตัดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนตรง T2-3N0-2M0 Primary Rectal Cancer
                   
ผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีระยะเวลาสั้น คือการให้ปริมาณรังสี 25 Gy ในปริมาณ 5 Gy ต่อครั้ง ร่วมกับยา Capecitabine ซึ่งโดยทั่วไปการฉายรังสี มักจะใช้ 2 Gy ต่อครั้ง เป็นจำนวน 25 ครั้ง หรือ 5 สัปดาห์   
                   
ยา Capecitabine จะให้วันละ 2 ครั้ง 1000 mg/m2 ในวันที่ 1-14
                   
การให้ความร้อน หรือ Local Hyperthermia 41-45°C  60นาที ในวันที่ 3 ถึง 5 และยา Metronidazole 10 g/m2 เข้าทางทวารหนัก วันที่ 3 และ 5 

หลังจากนั้น ก็ตามด้วยการผ่าตัดแบบมาตรฐานในระยะเวลา 4 สัปดาห์
                
ผลการศึกษาในผู้ป่วย 81 ราย มีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด 11 ราย (13.8%) แบ่งภาวะแทรกซ้อน  ระดับ 3 จำนวน 10 ราย (12.3%) และระดับ 4 อีก 1 ราย
                  
การผ่าตัดแบบเก็บรักษาหูรูด (Sphincter-Sparing Surgery) ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องมีถุงอุจจาระหน้าท้อง สามารถทำได้ 78 ราย (96.3%)
                    
16 ราย หรือ (20%) มีการหายไปของผลทางพยาธิวิทยา Pathological Complete Response (pCR)
                    
การติดตามการรักษาที่ระยะเฉลี่ย 40.9 เดือน ไม่มีการกลับเป็นใหม่ แต่ 9 ราย (11.1%) มีการกระจายของโรค
                
อัตราการอยู่รอดที่ระยะ 3 ปี เท่ากับ 97% โดยปราศจากโรค 85%
                   
โดยสรุป การให้รังสีในระยะสั้น ร่วมกับยาและความร้อน เป็นการรักษาที่ปลอดภัยและให้ผลการรักษาที่ดีไม่แตกต่างจากการให้รังสีระยะยาว
                 
จากวิธีการดังกล่าวข้างต้น เราจะเห็นผลค่อนข้างชัดเจนว่า การเสริมฤทธิ์ของการรักษาซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นยาต่อรังสี หรือ ความร้อนต่อยาและรังสี ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
                  
พร้อมกันนี้ เรายังสามารถนำหลักการนี้ที่เป็นลักษณะของ Trimodal Therapy ไปใช้รักษา ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือ ในกรณีที่โรคมีการกลับเป็นใหม่ โดยไม่ว่าจะเป็นการมุ่งหวังให้หายขาดหรือบรรเทาอาการ จะได้ผลการควบคุมโรค หรือ pathological CR ถึง 20%
                  
จึงนับได้ว่า การนำความร้อนมาร่วมรักษากับการฉายรังสีระยะเวลาสั้น เป็นแนวทางหนึ่งที่เพิ่มผลการรักษา  ทำให้มีความสะดวก เพราะการรักษาใช้ระยะเวลาสั้น และยังใช้เป็นทางเลือกที่ดีมากในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

แหล่งข้อมูล  :  Int J Hyperthermia. 2016 Dec 15:1-19.


Short-course preoperative radiotherapy combined with chemotherapy, delayed surgery and local hyperthermia for rectal cancer: a phase II study.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น