วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทำไมฉายรังสีที่โพรงหลังจมูก ต้องเจาะท้องให้อาหาร ?





เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีคำถามจากลูกสาวผู้ป่วยรายหนึ่งน่าสนใจมาก หากไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจน ก็คงจะงง ไม่เข้าใจและเกิดความวิตก ด้วยเหตุที่คุณแม่ของเธอคลำพบก้อนที่คอ โดยไม่ได้มีอาการอื่นๆชัดเจน ใช้ชีวิตได้ตามปกติและได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หมอบอกว่าเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก ต้องได้รับการรักษาด้วยรังสี เพียงแค่นี้ก็เครียดมากแล้ว แต่ตกใจยิ่งกว่า เมื่อหมอบอกว่าจะให้เจาะท้องเพื่อให้อาหาร ทั้งๆที่มารดายังกินอาหารได้ตามปกติ ก็ยิ่งเพิ่มความกลุ้มกังวลมากขึ้นอีก ด้วยคิดไปต่างๆนานาว่า แม่คงอาการหนัก เพราะเคยเห็นคนให้อาหารทางสายยางที่ใส่ทางจมูก แต่นี่ของแม่เธอต้องเจาะกระเพาะเลย ฟังดูก็น่ากลัวสำหรับแม่และตัวเธอเอง

ทำไมต้องเตรียมการให้อาหาร

ประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องน้ำหนักลด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีจากรายงานที่ชัดเจนพบว่าการที่น้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี (BJR 2013;1091093-1099) โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกที่มีน้ำหนักตัวน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะมีผลเสียต่อการรักษา  

น้ำหนักลด เกิดจากอะไร

ดังที่เคยกล่าวมาแล้วในบทเรื่องน้ำหนักลดผิดปกติ ต้องระวังเพราะอาจเกิดจากโรคที่ซ่อนอยู่ ซึ่งนอกจากมะเร็งแล้วยังมีโรคอื่นๆที่พบบ่อยได้แก่
1.โรคทางกลุ่มไร้ท่อ เช่น เบาหวาน Hyperthyroidism Hyperparathyroidism 
2.โรคทางทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Disease) ที่การดูดซึมสารอาหารลดลง (Malabsorption Syndrome)
3.โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค เอดส์ หรือ ตับอักเสบ 
4.โรคทางระบบประสาท Neurological Disease  ได้แก่โรคหลอดเลือดสมอง สมองเสื่อม พาร์กินสัน  
5. การติดสารเสพติด แอลกอฮอล์ กัญชา     
                 
ในผู้ป่วยมะเร็งเมื่อแรกวินิจฉัยนั้น ร้อยละ 50 จะมีอาการเบื่ออาหารร่วมกับน้ำหนักลด โดยเฉพาะกลุ่มมะเร็งของทางเดินอาหารส่วนต้น ที่ทำให้กินอาหารลำบาก เช่น มะเร็งที่ลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร รวมทั้งมะเร็งตับและตับอ่อน ที่ผู้ป่วยน้ำหนักจะลดลงมากและเร็ว โดยน้ำหนักตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนักก่อนป่วย

ทั้งนี้น้ำหนักอาจจะลดลงอีก หากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา โดยเฉพาะจากยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา การฉายแสงทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวหรือลำไส้อักเสบตามมา ในบางรายมีการฉายแสงบริเวณต่อมน้ำลาย ทำให้ต่อมน้ำลายแห้ง มีปัญหาในการ กลืน เป็นต้น 

นอกจากนี้ แม้จะกินอาหารได้ ร่างกายก็อาจจะมีการสร้างสารเคมีต่างๆออกมา เป็นเหตุให้กระบวนการทางเมตาบอลิสมของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป และเกิดการเผาผลาญโปรตีนผิดปกติ  พร้อมๆกับอัตราการสร้างโปรตีน ของกล้ามเนื้อลดลง

การรักษาภาวะน้ำหนักลด     
   
1.การรักษาน้ำหนักลดให้ได้ผล ต้องดูแลโรคร่วมดังที่กล่าวมาแล้ว ประกอบกับการรักษาต้นเหตุ ได้แก่ การรักษาโรคมะเร็ง ร่วมกับการป้องกัน รักษาภาวะแทรกซ้อนจากเนื้องอก การผ่าตัด หรือแก้สาเหตุต่างๆ ที่มีผลต่อการอุดตันทางเดินอาหารจากก้อนเนื้องอก เป็นต้น

2. การรักษาโดยการใช้ยากลุ่ม โปรเจสเตอโรน และคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ เป็นอย่างดี เพราะอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนจากยาได้

3.การได้อาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งข้อนี้จะเป็นประเด็นของผู้ป่วยท่านนี้ที่ต้องเจาะท้อง เนื่องจากเชื่อว่าผู้ป่วยจะต้องเกิดภาวะน้ำหนักลดจากการรักษา ซึ่งต้องใช้ทั้งยาเคมีบำบัด และการใช้รังสี นำไปสู่ข้อจำกัดของการกินอาหาร

ทำไมต้องเจาะท้องเพื่อให้อาหาร

การให้อาหารทางสายยางจึงถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการขาดอาหาร แต่การให้อาหารทางสายยางมีได้หลายวิธี ที่เห็นบ่อยในอดีตหรือผู้ป่วยทั่วไป คือการใส่สายทางจมูก ผ่าลำคอเข้าหลอดอาหาร ส่วนปลายสายยางจะอยู่ในกระเพาะอาหาร จะมีประโยชน์ในกลุ่มที่ใส่ในระยะช่วงสั้นๆ ที่ไม่มีปัญหาการอักเสบที่คอหรือจมูก แต่ในผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก ที่เนื้องอกอาจจะอุดตันในโพรงหลังจมูก หรือ อาจจะมีเลือดออก รวมทั้งเวลาฉายรังสีบริเวณนี้จะมีการอักเสบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บมาก และถ้าต้องใส่เป็นระยะเวลาหลายเดือน ก็จะเป็นที่รำคาญและทรมานกับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่สายจะหลุดได้ด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจจะดึงสายหลุด ต้องมีการใส่สายใหม่ นอกจากนี้อาจเกิดแผลกดทับที่ขอบจมูกและภายในทางเดินหายใจและหลอดอาหาร ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอีกประการ คือ เกิดการสำลัก อาจทำให้ปอดอักเสบและเสียชีวิตได้

ต่อมาใช้ วิธีการใส่สายยางโดยตรงที่กระเพาะ ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเทคนิคที่ง่ายและดีขึ้น คือ การใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องโดยใช้กล้องส่องกระเพาะอาหารหรือที่เรียกว่า PEG (Percutaneous Endoscopic Gastrostomy) วิธีการนี้จะ สะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการผ่าตัด หลังจากนั้น ก็จะมีการสอนการดูแลสายและวิธีการให้อาหาร ที่มีรายละเอียดซึ่งอาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็เป็นมาตรฐานเดียวกัน

โดยสรุปแล้ว การจะใส่สายเข้ากระเพาะหรือไม่ จะเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพและอายุผู้ป่วย ไม่ได้หมายความว่าต้องใส่ทุกราย ซึ่งหมายความว่า ทีมสู้มะเร็งต้องทำความเข้าใจและร่วมกันดูแลครับ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ใส่ PEG นั้น ผู้ป่วยก็ต้องพยายามกลืนอาหารทางปากเท่าที่ทำได้ด้วย เพื่อลดปัญหาเรื่อง การกลืนลำบากในภายหลัง เมื่อเสร็จสิ้นการรักษาแล้วนะครับ
                 

ที่มาภาพประกอบ: Khursheed N.J., Clinical nutrition: 6. Management of nutritional problems of patients with Crohn’s disease. CMAJ, Apr. 2, (2002); 166 (7)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น