จากตอนที่แล้ว
การรักษา GIST ในตำแหน่งปฐมภูมิ จะใช้การผ่าตัด หรือ
การใช้ยา แต่หากการรักษานั้นไม่ได้ผล หรือ เมื่อมีการกระจายไปตับ
อาจจะใช้เทคนิคการรักษาอื่นที่เป็นการรักษาเฉพาะที่ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาอาการ
แต่หากเป็นเพียงตำแหน่งเดียวก็อาจจะช่วยให้หายขาดหรือมีอัตราการอยู่รอดที่ยาวขึ้น
การจะเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งรอยโรค ที่ค่อนข้างจำเพาะ คือ ที่ตับ จะมีการใช้การจี้ด้วยคลื่นความถี่สูง (Radio
Frequency Ablation) หรือ การฉีดสารเข้าไปทำลายเนื้องอกโดยผ่านเส้นเลือดที่มาเลี้ยง (Hepatic
Arterial Embolization) เหมือนกับการรักษามะเร็งตับ ดังเช่นตัวอย่างรายงาน เรื่อง Radiofrequency ablation for liver metastasis from gastrointestinal
stromal tumor โดย Yamanaka T และคณะ (J Vasc Interv Radiol.
2013) ที่รายงานความปลอดภัย
และผลการรักษา 21 รอยโรคที่เกิดจากการกระจายของ
GIST มาที่ตับ ในผู้ป่วย 7 ราย พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมากคือ
รอยโรค หายไปหมด จากการตรวจด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จากระยะเวลาการติดตามผู้ป่วยเฉลี่ย 30.6 เดือน ในจำนวนนี้มีการกลับเป็นใหม่ 1 ตำแหน่ง คิดเป็น 4.8% และมีผู้ป่วยหนึ่งรายที่มีรอยโรคเกิดขึ้นใหม่ในตับและปอด นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นเทคนิคที่ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงจากการรักษา
ซึ่งเทคนิค RF นี้ ได้เคยเขียนใน blog นี้ แล้ว เป็นเทคนิคที่ใช้ความร้อนในการทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ก็จะมีข้อจำกัดในกรณีที่รอยโรค อยู่ใกล้เส้นเลือดใหญ่ หรือ ติดอยู่กับกระบังลมของปอด พร้อมทั้งก็อาจจะมีภาวะแทรกซ้อน ที่มีในรายงานอื่นเกี่ยวกับติดเชื้อ หรือ
อาการปวด เป็นต้น
ด้วยหลักการเดียวกัน ของการรักษารอยโรคในตับ ก็มีผู้ใช้เทคนิคอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก หรือ
ที่เรียกว่า Embolization แต่ก็ยังไม่ที่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย
รังสีรักษา บทบาทการใช้รังสีรักษา ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้มากนัก
ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโรคที่พบในช่องท้อง
จึงมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติในช่องท้อง ซึ่งมีทั้ง ตับ ไต และลำไส้ ซึ่งไวต่อรังสี แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคนิคการฉายรังสี ที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยต่ออวัยวะโดยรอบ ได้แก่
IMRT
IGRT ทำให้ความมุ่งหวังจากเดิมซึ่งเป็นเพียงการใช้รังสี
เพื่อบรรเทาอาการปวด หรือ หยุดสภาวะการมีเลือดออก โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ผ่าตัดยากหรือไม่ตอบสนองต่อยาแล้ว มาเป็นการรักษาที่หวังเพิ่มอัตราการหายมากมากขึ้น
มีรายงานแสดงผลการใช้รังสีในก้อน GIST ใหญ่ ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้ ทั้งไม่ตอบสนองต่อ Imatinib ขนาด 14.8×11.5×12.3 ซม. หลังการฉายรังสี 63.4 Gy ก้อนยุบลงพร้อมทั้งมีส่วนเน่าตายภายในก้อน (J Gastrointest Oncol. 2012 Jun; 3(2): 143–146. Effectiveness of radiation therapy in GIST: A case report )
จากรายงานนี้ จะเห็นได้ว่า GIST ซึ่งอดีต คิดว่าไม่ตอบสนองต่อรังสี ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณรังสีที่ให้จำกัด แต่ด้วยรังสีที่สูงขึ้นก็จะพบการตอบสนองที่ดี ทำให้เกิดความหวังมากขึ้น ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จะด้วยข้อห้าม
ของตำแหน่ง หรือ ขนาดก้อนที่ใหญ่ หรือ ข้อห้ามจากอายุ และสุขภาพ
สามารถได้รับการรักษา ด้วยรังสี ร่วมกับเทคนิคอื่นๆ รวมทั้งยา ที่จะเพิ่มอัตราการควบคุมโรค
และอัตราการอยู่รอดได้ครับ GIST ที่รักษายาก ก็อาจจะกลายเป็นตัวจิ๊ด
ที่ไม่เป็นปัญหาในอนาคตครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น