วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

น้ำมันมะพร้าว กับ เยื่อบุช่องปากอักเสบ จากการฉายรังสี และยาเคมีบำบัด


ปัญหาเรื่องเยื่อบุช่องปากอักเสบ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี บริเวณศีรษะและลำคอ  และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด นอกจากความเจ็บปวดแล้ว ยังนำไปสู่ ภาวะทุโภชนาการจากการกินไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด คือ การติดเชื้อ ทั้งเฉพาะที่ในช่องปากจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา รวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่กระจายในกระแสโลหิต

จึงมีความพยายาม ที่จะลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนนี้ ในรูปแบบต่างๆกัน โดยเฉพาะในรูปแบบของยาอมบ้วนปาก                     

ในระยะนี้ มียาตัวหนึ่งที่ถูกนำเข้ามาใช้เป็นยาอมบ้วนปากที่มีราคาแพงมาก ซึ่งก็มีรายงานการศึกษาทางด้านที่ได้ผล  แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า ยา นี้ไม่ได้ผลเหมาะสมกับที่คาดหวัง 

จากรายงานการใช้ยาอม A เพื่อลดอาการอักเสบของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะ ที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี ทั้งในผู้ป่วยที่ได้หรือไม่ได้รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วย เป็นการศึกษาร่วมกันของหลายสถาบันที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Department of Radiation Oncology, Moffitt Cancer Center,    University of Florida,  Duke University Cancer Center, MD Anderson Cancer Center ซึ่งลงพิมพ์ในวารสาร Oral Oncol. 2014; 50(8): 765769

โดยการให้ยา A อย่างน้อย 4 ครั้ง ถึง 10 ครั้งต่อวันทั้งนี้มีความมุ่งหวังที่จะลดภาวะแทรกซ้อนที่มีการอักเสบของเยื่อบุในระดับ 2 ลงจาก ร้อยละ 90 เหลือ น้อยกว่า <75%   

ผลจากการศึกษาในผู้ป่วย 98 ราย ประเมินผลได้  59/98 ราย (60%) ปรากฎว่าไม่ได้ผลตามที่คาด ซึ่งรายงานนี้ตรงกับที่มีรายงานใน European J of Oncology Nursing  ซึ่งเปรียบเทียบยาอมบ้วนปาก A กับการอมน้ำแข็ง ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด เพื่อการปลูกถ่ายไขกระดูก  พบว่าไม่มีความแตกต่างในการเกิด ภาวะเยื่อบุอักเสบ
                      
จะเห็นได้ว่าแม้ยาราคาแพง ก็อาจจะไม่ได้ผลอย่างที่คาด

แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นรายงานวิจัยของคนไทย ที่ลงในวารสารโรคมะเร็ง เป็นการศึกษานำร่อง เรื่องการศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลช่องปากด้วยตนเองร่วมกับการอมกลั้วปากด้วยน้ำมันมะพร้าวต่ออาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ

ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยคุณเอมอร สุวรรณพิวัฒน์ จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (วารสารโรคมะเร็ง 2556;33:41-52.) โดยมีหลักการที่อ้างอิงในส่วนที่เกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวว่าน้ำมันมะพร้าวออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา แคนดิดาแอลบิแคน และเชื้อสเตร็พโตคอคคัสมิวแทนส์ ไปสู่การศึกษาการอมกลั้วปากด้วยน้ำมันพืช ที่อาจนำมาเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งมะพร้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในประเทศและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะน้ำมันมะพร้าวบริสุทธ์ (Virgin Coconut Oil) นั้นมีรายงานการศึกษาในห้องทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่ามีฤทธ์ต้านการอักเสบ ลดปวด และลดไข้ ช่วยลดระยะเวลาในการหายของแผลให้เร็วขึ้น
                  
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายงานการวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ในการดูแลสุขภาพทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ป่วย เช่น ช่วยเพิ่มระดับไขมันที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยรักษาปัญหาผิวหนัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของหน้าที่ในการป้องกันผิวหนัง ผู้วิจัยจึงเลือกใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์อมกลั้วปากในการศึกษาครั้งนี้ เพราะมีกรดไขมันลอริคที่มีสารโมโนลอรินที่สามารถต้านจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในช่องปาก โดยมีผลต่อหน้าที่การทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเรียงตัวหรือสลายตัวของเซลล์จุลินทรีย์จึงอ่อนแอลงและตายในที่สุดพร้อมทั้งมีปริมาณวิตามินอีบริสุทธิ์สูงที่จะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระส่งเสริมการหายของแผลในช่องปาก
                    
การศึกษานี้ แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยเพียง  20 ราย แต่ก็แบ่งเปรียบเทียบเป็น สองกลุ่มๆละ 10 รายคือ กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองได้รับการให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลช่องปากด้วยตนเองร่วมกับการใช้น้ำมันมะพร้าวอมกลั้วปากทุกวันในช่วงเช้า โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ได้รับยาเคมีบำบัดต่อเนื่องไปจนครบ 4 วัน การอมกลั้วปากด้วยน้ำมันพืช จะใช้ประมาณ 15 ซีซี เทใส่ในปาก และเคลื่อนน้ำมันให้ทั่วช่องปาก โดยใช้การดึงดูดและดันน้ำมันที่มีอยู่ในช่องปากให้เคลื่อนที่ใช้เวลาประมาณ 15 นาที และบ้วนน้ำมันนั้นทิ้งไป ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติจากพยาบาล

ผลการศึกษาพบว่าหลังจากผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด กลุ่มทดลองมีระดับความรุนแรงของอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และไม่พบผลข้างเคียงใดๆจากการใช้น้ำมันมะพร้าวอมกลั้วปาก
                     
เห็นไหมครับ น้ำมันมะพร้าวที่เป็นสารธรรมชาติ ราคาไม่แพง ก็มีประโยชน์ ที่จะนำมาใช้และศึกษาอย่างจริงจัง  นะครับ


วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทีมสู้มะเร็ง: อย่าท้อ เพียงเพราะคำว่าไม่หาย

 ภาพประกอบจาก : http://www.sharecare.com/health

เป็นธรรมดาของโรคมะเร็ง ที่ผู้ป่วยหรือญาติมักจะตกใจ และรู้สึกแย่ขนาดที่ไม่อยากจะเอ่ย หรือ คิดถึง   ไม่ว่าจะเป็นตอนกำลังรักษา หรือ หายแล้วก็ตาม ผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะมีความมั่นใจว่าจะหาย ส่วนหนึ่งพร้อมสู้แม้จะมีความหวังอันน้อยนิด
                 
ด้วยเหตุที่การรักษามะเร็งนั้นยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ฉายรังสี และยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะ 2 วิธีหลังที่ผู้ป่วยจะกลัว เพราะเคยได้ฟังมาว่า ภาวะแทรกซ้อนมีมาก  บางครั้งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และบางครั้งถึงกับเสียชีวิต               

ดังนั้นเมื่อมีคำว่า "ไม่หาย" จึงเปรียบเสมือนคำตัดสินที่ผู้ป่วยจะยอมรับด้วยความท้อแท้ และหยุดการรักษา ยอมรับสิ่งที่จะตามมา โดยเฉพาะท่านที่มีปัญหาชีวิตอยู่แล้ว เช่นปัญหาครอบครัว ทางการเงินและหรือปัญหาอื่นๆ

เหตุที่ผมนำเรื่องนี้มากล่าวถึงในวันนี้ เพราะ มีญาติผู้ป่วยรายหนึ่ง มาปรึกษาว่า อาของเขา ขายขนมในตลาด อยู่ๆก็รู้สึก แขน ขาข้างขวาอ่อนแรง ทั้งที่ปกติเป็นคนแข็งแรงดี ไปตรวจที่โรงพยาบาล พบว่าเป็นมะเร็งปอด และกระจายไปที่สมอง หมอบอกระยะที่ 4 แล้ว รักษาไม่หาย

อาของเขาไม่มีครอบครัว อยู่คนเดียว จึงยอมรับสภาพว่า แขนขา อ่อนแรง ก็เหมือนอัมพฤกษ์ ไม่ช้าหรือ เร็วก็ตายเหมือนกัน อยากใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายโดยไม่ต้องรบกวนใคร ญาติซึ่งเป็นหลานก็รู้สึกสงสาร อยากถามหาหนทางที่จะรักษา ก็เลยไปปรึกษาอีกโรงพยาบาล โดยไม่มีผู้ป่วยไปด้วย ก็ได้รับคำตอบที่เหมือนกัน แต่ครั้งนีดูเหมือนจะหนักกว่าเดิม เพราะพอแพทย์อธิบายวิธีการรักษา ตัวหลานก็มึนไปด้วย เพราะมีทั้งการฉายรังสี ที่สมอง 2-4 สัปดาห์ ต้องเดินทางทุกวัน รวมกับการต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาเคมีบำบัด  เดือนละครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน เขาจะช่วยอาได้อย่างไรดี เพื่อช่วยมิให้อาท้อแท้จนสู่ภาวะจิตตก

ผมเข้าใจ ถึงความรู้สึกนี้ดี อยากที่จะบอกว่าขอให้สู้ และขอเสนอข้อคิดในมุมต่างๆ ดังนี้
                 
ตัวผู้ป่วย: คงต้องตระหนักว่าการป่วยถึงขั้นไม่หายนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่คุณภาพชีวิตขณะยังมีลมหายใจ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ป่วยมะเร็งรายนี้ ถ้าไม่รับการรักษา สิ่งที่จะตามมา คือขณะยังมีชีวิตอยู่ อาจจะหอบเหนื่อย ไอเป็นเลือด ช่วยตัวเองไม่ได้นอนบนเตียงตลอดเวลา จริงอยู่ถึงรักษาก็ไม่อาจที่จะมีชีวิตยืนยาว แต่มีโอกาสลดความทรมานให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องแขนขาอ่อนแรง หรือไอเป็นเลือด ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ลำบาก และเป็นภาระทั้งตัวเอง และญาติ                                        

จึงขอแนะนำว่า อย่าท้อ สร้างพลังใจให้ตัวเอง แม้เป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็พยายามนะครับ ผมไม่ได้เปรียบเทียบระหว่างโรค เพราะทุกความสูญเสีย คือ ความทุกข์  แต่อยากจะยกตัวอย่างให้อย่าท้อในเรื่องมะเร็ง

ส่วนญาติผู้ป่วย: แม้ผู้ป่วยหมดทางรักษา แต่การได้รับกำลังใจ การดูแลที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยมีความสุขได้บ้างในบางเวลา  ถือเป็นเป้าประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการให้แก่ผู้ป่วย อย่าตัดสินใจลดภาระในเบื้องต้น โดยการไม่ไปรักษา เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานในระยะยาว การปรึกษาและเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ร่วมกับแพทย์  จะเป็นสิ่งที่จะช่วยผู้ป่วยได้

ฝ่ายแพทย์: การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ปกติหมอก็จะให้ความสำคัญในการรักษาเต็มที่ทุกระยะ จนกระทั่งถึงระยะสุดท้าย ไม่ได้ดูเฉพาะในกลุ่มที่รักษาได้ ศิลปะในการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย โดยการสร้างความสมดุลทุกมิติ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  เพราะจะมีความหลากหลายในปัญหา ที่ผนวกรวมของผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว และสังคม ที่ไม่มีในตำราเล่มไหน เขียนได้หมด 

ไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่า CPG ( แนวทางมาตรฐานการรักษา )

ไม่มี Evidence Level 1 หรือ หลักฐานการบ่งชี้ในระดับ 1 ซึ่งต้องปฏิบัติตาม ทุกอย่างเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่นำไปสู่บุญกุศลอันยิ่งใหญ่ครับ ให้โอกาสและสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ป่วย อย่าได้เกิดความท้อแท้ หดหู่ และซึมเศร้า เลยครับ

ผมก็คงได้แต่หวังว่าในอนาคตอันใกล้ กระทรวงสาธารณสุขคงเล็งเห็นความจำเป็นในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะไม่หาย โดยเฉพาะกลุ่มซึ่งไร้ญาติหรือ มีญาติ แต่ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะช่วยเกื้อกูลกันได้เต็มที่  รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณสร้างสถานพยาบาลกลางในทุกภูมิภาค เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้เท่าที่จะพึงทำได้ นอกเหนือจากเทคโนโลยีราคาแพง ในมหาวิทยาลัยแพทย์  ศูนย์มะเร็งต่างๆ ที่มีแต่ความแออัด เกินกว่าที่จะดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ เพื่อความสุข และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ท้อ แม้ไม่หายครับ
             

  

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โรคจิสท์ (GIST) ไม่ใช่ ตัวจิ๊ด (ตอนที่ 2)

จากตอนที่แล้ว การรักษา GIST ในตำแหน่งปฐมภูมิ จะใช้การผ่าตัด หรือ การใช้ยา แต่หากการรักษานั้นไม่ได้ผล หรือ เมื่อมีการกระจายไปตับ อาจจะใช้เทคนิคการรักษาอื่นที่เป็นการรักษาเฉพาะที่ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาอาการ แต่หากเป็นเพียงตำแหน่งเดียวก็อาจจะช่วยให้หายขาดหรือมีอัตราการอยู่รอดที่ยาวขึ้น

การจะเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งรอยโรค ที่ค่อนข้างจำเพาะ คือ ที่ตับ จะมีการใช้การจี้ด้วยคลื่นความถี่สูง (Radio Frequency Ablation) หรือ การฉีดสารเข้าไปทำลายเนื้องอกโดยผ่านเส้นเลือดที่มาเลี้ยง (Hepatic Arterial Embolization) เหมือนกับการรักษามะเร็งตับ ดังเช่นตัวอย่างรายงาน เรื่อง Radiofrequency ablation for liver metastasis from gastrointestinal stromal tumor โดย  Yamanaka T และคณะ (J Vasc Interv Radiol. 2013)  ที่รายงานความปลอดภัย และผลการรักษา  21 รอยโรคที่เกิดจากการกระจายของ GIST  มาที่ตับ ในผู้ป่วย 7 ราย พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมากคือ รอยโรค หายไปหมด จากการตรวจด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จากระยะเวลาการติดตามผู้ป่วยเฉลี่ย  30.6 เดือน ในจำนวนนี้มีการกลับเป็นใหม่ 1 ตำแหน่ง คิดเป็น 4.8% และมีผู้ป่วยหนึ่งรายที่มีรอยโรคเกิดขึ้นใหม่ในตับและปอด นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นเทคนิคที่ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงจากการรักษา ซึ่งเทคนิค RF นี้ ได้เคยเขียนใน blog นี้ แล้ว เป็นเทคนิคที่ใช้ความร้อนในการทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ก็จะมีข้อจำกัดในกรณีที่รอยโรค อยู่ใกล้เส้นเลือดใหญ่ หรือ ติดอยู่กับกระบังลมของปอด พร้อมทั้งก็อาจจะมีภาวะแทรกซ้อน ที่มีในรายงานอื่นเกี่ยวกับติดเชื้อ หรือ อาการปวด เป็นต้น

ด้วยหลักการเดียวกัน ของการรักษารอยโรคในตับ ก็มีผู้ใช้เทคนิคอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก หรือ ที่เรียกว่า Embolization  แต่ก็ยังไม่ที่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย

รังสีรักษา บทบาทการใช้รังสีรักษา ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโรคที่พบในช่องท้อง  จึงมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติในช่องท้อง ซึ่งมีทั้ง ตับ ไต และลำไส้ ซึ่งไวต่อรังสี แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคนิคการฉายรังสี ที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยต่ออวัยวะโดยรอบ ได้แก่ 

IMRT IGRT ทำให้ความมุ่งหวังจากเดิมซึ่งเป็นเพียงการใช้รังสี เพื่อบรรเทาอาการปวด หรือ หยุดสภาวะการมีเลือดออก โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ผ่าตัดยากหรือไม่ตอบสนองต่อยาแล้ว มาเป็นการรักษาที่หวังเพิ่มอัตราการหายมากมากขึ้น

มีรายงานแสดงผลการใช้รังสีในก้อน GIST ใหญ่ ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้ ทั้งไม่ตอบสนองต่อ Imatinib   ขนาด 14.8×11.5×12.3 ซม. หลังการฉายรังสี 63.4 Gy ก้อนยุบลงพร้อมทั้งมีส่วนเน่าตายภายในก้อน (J Gastrointest Oncol. 2012 Jun; 3(2): 143146. Effectiveness of radiation therapy in GIST: A case report )  


จากรายงานนี้ จะเห็นได้ว่า GIST ซึ่งอดีต คิดว่าไม่ตอบสนองต่อรังสี ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณรังสีที่ให้จำกัด แต่ด้วยรังสีที่สูงขึ้นก็จะพบการตอบสนองที่ดี ทำให้เกิดความหวังมากขึ้น ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จะด้วยข้อห้าม ของตำแหน่ง หรือ ขนาดก้อนที่ใหญ่ หรือ ข้อห้ามจากอายุ และสุขภาพ สามารถได้รับการรักษา ด้วยรังสี ร่วมกับเทคนิคอื่นๆ รวมทั้งยา ที่จะเพิ่มอัตราการควบคุมโรค และอัตราการอยู่รอดได้ครับ GIST  ที่รักษายาก ก็อาจจะกลายเป็นตัวจิ๊ด ที่ไม่เป็นปัญหาในอนาคตครับ