วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

Nano Knife: มีดนาโน อีกความหวังหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งตับ

ภาพประกอบจาก: http://www.totalhealth.co.uk

แม้มะเร็งตับยังคงเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิต และยังไม่สามารถจะรักษาได้ดีเพียงพอ แต่การพัฒนายังคงมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากรายงานการศึกษาที่ลงใน Int J Hyperthermia 2017 May 29:1-8 โดย Tan Y และคณะ จาก Third Military Medical University ประเทศจีน
           
เป็นความหวังในผู้ป่วยมะเร็งตับที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ซม. เมื่อรักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ Radiofrequency ในจำนวน 956 รอยโรค ในการติดตามเฉลี่ย 34 เดือน (23-52เดือนพบการลุกลามที่ระยะ 1,3,5 ปี เท่ากับ 0.39%, 4.96% และ 6.66% โดยมีอัตราการอยู่รอด 99.42%, 83.97% และ 68.42% ตามลำดับ            
            
ความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดเจน เป็นระยะในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา คือการรักษาด้วย เทคนิคมีดนาโน โดยเป็นอีกก้าวสำคัญ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ซึ่งในอดีตจะใช้การจี้ก้อนเนื้องอกเฉพาะจุด (Tumor Ablation) หรือการให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (Transarterial Chemoembolization: TACE)                      
               
การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยเข็มที่ให้ความร้อนจะใช้ความร้อนที่เกิดจากคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation: RFA) เป็นหลัก แต่ยังมีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถรักษาเนื้องอกได้ในทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะก้อนเนื้องอกที่อยู่ชิดกับหลอดเลือดและท่อน้ำดี
                 
นวัตกรรมใหม่ เรียกว่า มีดนาโน (Nanoknife) เป็นการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโนหรือไฟฟ้าความต่างศักย์สูง เกิดภาวะ Irreversible Electroporation (IRE)โดยมีหลักการสำคัญ คือ การให้คลื่นไฟฟ้าพลังงานสูง ในระยะเวลาสั้นๆเป็นช่วงๆ จะมีผลให้ผนังเซลล์เปิดออกเป็นการชั่วคราวเเละปิดกลับเป็นปกติได้ แต่ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะกับเซลล์ปกติ แต่ผนังเซลล์มะเร็ง สูญเสียคุณสมบัติที่ดีนี้ ทำให้เมื่อได้รับคลื่นไฟฟ้าจะเกิดการตายของเซลล์อย่างถาวร เมื่อนำหลักการนี้มาใช้ทางการเเพทย์ โดยการใช้เข็มเเทงผ่านผิวหนังที่เรียกว่า Nanoknife เข้าไปในก้อนเนื้อร้ายเเล้วให้คลื่นวิทยุพลังงานสูง ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งตาย เเต่เซลล์ปกติยังอยู่รอดได้ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์นำมาประยุกต์ในการรักษาโรคมะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก
         
อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ แม้จะมีข้อดีที่ไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง แต่ก็มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยมีดนาโนเช่นกัน คือจะไม่สามารถให้การรักษาในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ก้อนเนื้องอกที่อยู่ใกล้หัวใจ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่เข้าไปจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมถึงก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่เกิน 5 ซม
         
มีดนาโน หรือ Nanoknife ได้รับการรับรองจากสถาบัน FDA จากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2011   ต่อมาได้มีการใช้ในโรงพยาบาลทั้งในยุโรปและเอเซีย มากกว่า 100 แห่ง
           
แม้จะมีคำว่ามีด หรือ Knife แต่ในความจริงไม่มีการใช้มีดเลย เหมือนกับในอดีตที่เราเคยได้ยินเรื่อง Gammaknife ซึ่งมีคนใช้คำว่า รังสีศัลยกรรม การผ่าตัดด้วยรังสี อันนี้ก็จะเป็นการผ่าตัดด้วยกระแสไฟฟ้า
        
โรงพยาบาลศิริราช ใช้มีดนาโนแห่งแรกในประเทศไทย
               
จากการแถลงข่าว โดย .ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ว่า รพ.ศิริราช มีการนำนวัตกรรมมีดนาโนมาใช้รักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะมะเร็งตับและตับอ่อน ถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผศ.นพ.ตรงธรรม ทองดีรายงานว่าได้ทำการรักษาผู้ป่วยมาแล้ว 20 ราย ทั้งนี้ นพ.สมราช  ธรรมธรวัฒน์ ได้ให้รายละเอียดว่า เป็นการใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอก ขนาดเล็กกว่า 5 ซม. และอยู่ชิดหลอดเลือดหรือท่อน้ำดีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ และเป็นมะเร็งในระยะไม่ลุกลาม โดยการจี้ก้อนเนื้องอกใช้เข็มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม. อย่างน้อย 2 เล่ม สูงสุดไม่เกิน 6 เล่ม ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงถึง 3,000 โวลต์ ไหลผ่านเซลล์เนื้องอก ส่งผลให้เกิดรูขนาดเล็กจำนวนมากที่เยื่อหุ้มเซลล์แบบถาวร ซึ่งจะทำให้เซลล์ตายโดยธรรมชาติ มีความแม่นยำสูง มีอาการแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อยโดยผู้ป่วย จะมีแผลขนาดเล็ก พักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืนก็สามารถกลับบ้านได้เลย   
                  
.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทางศิริราชได้จัดตั้งโครงการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสด้วยเทคโนโลยีทัดเทียมกันแม้ค่าใช้จ่ายสูง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคได้ที่มูลนิธิศิริราชโทร.02-4197658-60 ได้เลยครับ



วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การใช้ความร้อนในการกำจัดเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งที่ดื้อต่อการรักษา

ภาพประกอบจาก: https://yournuelife.com/what-is-stem-cell/

ผมเคยเสนอบทความในบล็อกเรื่องการรักษามะเร็งด้วยความร้อน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2016 และบางบทก่อนหน้านั้น เกี่ยวกับผลดีในการใช้ความร้อนต่อมะเร็งบางชนิด 
                  
วันนี้จะเสนอรายงานข่าวสารที่เกี่ยวกับ Hyperthermia จากวารสาร Int. J Hyperthermia 2017 ที่กล่าวถึง บทบาทของความร้อนในการกำจัดเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็งที่ดื้อต่อการรักษา (Targeting Therapy-Resistant Cancer Stem Cells by Hyperthermia) โดย A. L. Oei และคณะ จากประเทศเนเธอร์แลนด์นับเป็นอีกแง่มุมที่น่าสนใจ พร้อมกับความคาดหวังในความก้าวหน้าของการวิจัยต่อๆไป   
                  
เป้าหมายหลักในการรักษาโรคมะเร็ง คือการกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดจากร่างกาย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการกระจาย และการกลับเป็นใหม่ของโรคเป้าหมายที่ท้าทายนี้ ยังไม่ประสบผลเท่าที่ควร
                  
กลุ่มประชากรหรือกลุ่มเซลล์ที่เป็นประเด็นสำคัญดังกล่าว คือ เซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง หรือ Cancer Stem Cells (CSCs) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตั้งต้นในการมะเร็ง พร้อมทั้งลุกลามและแพร่กระจาย เป็นกลุ่มที่จะดื้อและหลบหลีกจากการรักษาทั่วไป ทั้งการผ่าตัด ฉายรังสี และยาเคมีบำบัด  ซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจาย หรือ การกลับเป็นใหม่ CSCs จึงอยู่ในความสนใจในการวิจัย เพื่อที่จะหาวิธีที่จะกำจัดให้หมด
              
ในรายงานนี้ จึงเป็นการประมวลแนวคิดที่นำไปสู่ความเป็นไปได้ของประโยชน์ของเทคนิค Hyperthermia  หรือ การให้ความร้อน ซึ่งถูกนำมาร่วมรักษา มาเป็นระยะเวลายาวนาน  พอจะสรุปผลได้ดังนี้
                  
- ประการที่หนึ่ง Hyperthermia ได้ถูกนำมาใช้ในการมุ่งกำจัดเซลล์ที่ขาดออกซิเจนและอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของ CSCs ซึ่งเป็นสาเหตุหลักมี่ทำให้การฉายรังสีหรือยาเคมีบำบัดทั่วไป ได้ผลน้อย
                   
- ประการที่สอง Hyperthermia สามารถที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหลอดเลือดและความเข้มข้นของออกซิเจน เป็นต้น
                    
- ประการที่สาม Hyperthermia มุ่งเป้าในการเปลี่ยนแปลงในหลายเส้นทาง ของ กระบวนการซ่อมแซมของ ดีเอนเอ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนา ความดื้อต่อการรักษาของเซลล์  CSCs
                     
การเติม Hyperthermia เข้าในกระบวนการรักษามะเร็ง จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการกำจัดกลุ่มเซลล์ที่ดื้อและหลบหลีกการรักษา
                     
ผมไม่ได้เข้าไปในรายละเอียดของเรื่องนี้ แม้หลายตอนของบทนี้จะแสดงถึงความสำเร็จของการใช้การรักษาร่วม แต่หลายอย่าง ดูจะเป็นเรื่องในระดับโมเลกุลที่สลับซับซ้อนที่เหมาะสมกับแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม นับเป็นบทความที่รวบรวมข้อมูลในการสนับสนุน  กระบวนการที่เกิดผลในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซ่อมแซม ดีเอนเอ การเพิ่มออกซิเจน หรือ การตอบสนองจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ จากการอ้างอิงรายงานการศึกษาถึง 170 รายงานในวารสารทางการแพทย์   
                     
ในอดีตที่ผ่านมา การรักษาจะเป็นเพียงการฉายรังสี และ การให้ยาเคมีบำบัด หลังจากเกิดกลับเป็นใหม่   ก็จะเพิ่มความร้อนร่วมในการรักษา ซึ่งให้ผลการรักษาดีขึ้น
                    
คณะผู้รายงานจึงตั้งแนวคิดว่า ทำไมจึงไม่ให้ความร้อน ร่วมกันตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะเกิดผลที่เป็นไปได้ดังที่กล่าวมาแล้ว
                     
บทนี้ จึงเป็นการเปิดแนวคิด ให้ทีมสู้มะเร็งเข้าใพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการใช้ความร้อน เพื่อการรักษามะเร็งว่ามีมายาวนาน แต่ยังต้องอาศัยการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้ข้อมูลมากเพียงพอในการจำเพาะ เป็นข้อบ่งชี้ในแต่ละโรคและแม้แต่โรคเดียวกัน ก็ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าจะได้ผลทุกราย ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการประเมินความชัดเจนในเรื่องผลข้างเคียง ที่แม้ว่าในรายงานในเบื้องต้นว่า พบได้ไม่มากและไม่รุนแรง ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาเหมือนแนวทางการรักษาที่มาตรฐานในปัจจุบัน เช่นรังสีรักษาที่มีข้อบ่งชี้ และข้อห้ามที่ชัดเจน

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ทีมสู้มะเร็ง : ความสับสนในการรับการรักษา

ภาพประกอบจาก: https://about.sharecare.com
เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยในการตัดสินใจรับการรักษา โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน ที่มีการเชื่อมโยงของข้อมูลได้รวดเร็วและอิสระ บางครั้งขาดการกลั่นกรองหรือทำความเข้าใจที่ดีพอ หนึ่งในความสับสนที่พบบ่อยคือ คำอธิบายของแพทย์ที่ต่างกรรม ต่างวาระ ดังตัวอย่างนี้
                       
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเป็นมะเร็งตับอ่อน เกิดอาการสับสนอย่างหนัก เพราะแพทย์แจ้งว่าที่รักษามาผิดพลาด ต้องรักษาแบบใหม่ที่ต้องใช้ยา ราคาแพงที่จำเพาะต่อโรค เม็ดละ 7,000 บาท เป็นระยะเวลาหนึ่งที่ยังกำหนดไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไร
                 
รายละเอียดที่น่าสนใจ คือ

1. ผู้ป่วท่านนี้ เป็นมาแล้ว 12 ปี
2. เป็นมะเร็งตับอ่อน ชนิด A ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้โดยศัลยแพทย์ เนื่องจากก้อนยึดติดอยู่ จำเป็นต้องรักษาต่อด้วยวิธีอื่น จึงถูกส่งตัวเข้าปรึกษาในมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งหนึ่ง
3. ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสี และยาเคมีบำบัด ตามแบบมะเร็งตับอ่อน ภรรยารับทราบถึงพยากรณ์โรคที่ไม่ดี จึงคิดที่จะลาออกจากราชการ
4. ในการติดตาม มีการใช้ยาเคมีบำบัดที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น เนื่องจากพบการกระจายที่ตับ
5. ต่อมามีภาวะแทรกซ้อนจากยาเคมีบำบัด และผลการตอบสนองไม่ดีนัก ผู้ป่วยจึงได้รับการฉายรังสี 1-2 ปี ต่อครั้เพื่อบรรเทาอาการ หรือเมื่อก้อนโตขึ้น
6. ผลการติดตามการรักษา ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถปฏิบัติราชการในต่างประเทศ และกลับมาติดตามการรักษาเป็นระยะ
7. ต่อมาเอกซเรย์ มีการกระจายของโรคอีก  แพทย์ท่านหนึ่ง ได้พิจารณาว่าให้มีการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อหาทางกำหนดแนวทางการรักษาใหม่ ด้วยเทคนิคการย้อมพิเศษ พบว่าเป็นนื้องอก ชนิด B          
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเปลี่ยนเป็นยามุ่งเป้า ซึ่งทั้งเทคนิคทางการตรวจและการให้ยามุ่งเป้าสำหรับมะเร็งชนิดนี้ เพิ่งจะได้รับการพิสูจน์ในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งก็นับว่าน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
                   
แต่เมื่อได้รับคำอธิบายว่า การรักษาที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ต้องใช้ยาใหม่ที่มีความจำเพาะ ผู้ใหญ่ท่านนี้ก็สับสนเล็กน้อย เพราะที่ผ่านมา เขาก็รู้สึกดีกับการรักษามาตลอด แต่ด้วยหมอท่านใหม่ที่รักษา แนะนำยาใหม่ ซึ่งเขาเองก็คิดว่าดีแน่ เพราะเป็นยาที่มีราคาสูงทีเดียว
                    
2 เดือนผ่านไป อาการกลับแย่ลง ผู้ป่วยเกิดแพ้ยา ผิวแห้ง คัน  กินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด เกือบ 10 กิโลกรัม ทั้งๆที่หมอว่ายานี้แทรกซ้อนน้อย

ท่านควรจะทำอย่างไร กลับไปหาหมอเดิมดีหรือไม่ หรือรักษาต่อไป
                
ท่านสับสนครับ
               
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเกิดขึ้นได้ ความถูกต้องในเวลาที่แตกต่างกัน อาจจะไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งที่มี ความก้าวหน้าในการวินิจฉัยและการรักษาเมื่อ 12 ปี ก่อน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หากไม่ได้รับการรักษา ก็อาจจะไม่สามารถอยู่มาได้ โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมาได้นานขนาดนี้
                  
การรักษาที่ได้รับในปัจจุบันก็ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ทันสมัย แต่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องจำเพาะบุคคล เพราะยามุ่งเป้านั้นเป็นการแพ้ ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าจะแพ้ได้มากมายขนาดนี้ เหมือนยา ซัลฟา ที่ใช้ทั่วไป อาจจะแพ้ ถึงขนาดเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
                
ควรเชื่อมั่นในทีมสู้มะเร็ง การพูดคุยกันทั้งแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ ในความรู้สึกต่อการรักษา โปรดอย่าใช้คำว่าผิด ถูก เพราะทุกอย่างเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่มุ่งหวังการรักษาเพื่อผู้ป่วยทั้งนั้น อย่าว่าแต่ต่างเวลากัน10 ปี เลย แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ต่างความคิด การตัดสินใจที่ต่างกัน ก็ย่อมเกิดขึ้นได้
                    
เมื่อผู้ป่วยเริ่มสับสนไม่เข้าใจ หมอก็ต้องพยายามสื่อสาร ทำความเข้าใจ และร่วมกันวางแผนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยบอกกล่าวให้แจ่มแจ้งชัดเจนผมขออนญาตย้ำว่าผู้ป่วยทุกท่าน สามารถสอบถามข้อข้องใจเพื่อความเข้าใจได้อยู่แล้วนะครับ ตั้งสติ ตั้งคำถามให้กระจ่าง ตั้งสติ ตอบคำถามที่ชัดเจน เป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย ที่กำลังทุกข์ อย่าให้เกิดความสับสนนะครับ