วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มาตรฐานใหม่ในการรักษามะเร็งตับอ่อนที่สามารถผ่าตัดได้

ภาพประกอบจาก: https://moffitt.org/cancers/pancreatic-cancer/
จากการประชุม ASCO 2016
                 
'มะเร็งตับอ่อนจัดเป็นมะเร็งที่รักษาและวินิจฉัยยาก ส่วนหนึ่งมักจะมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามมากจนผ่าตัดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่าตัดได้ อัตราการอยู่รอดก็ไม่ดีนัก
                
จึงมีผู้พยายามศึกษาการรักษาร่วมอื่นเพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอด  การรายงานการศึกษานี้ จึงเพิ่มความหวังในผู้ป่วยในกลุ่มที่ผ่าตัดได้ โดยพบว่าการให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน จะเป็นมาตรฐานใหม่ในการรรักษา ที่มีอัตราการอยู่รอดที่ระยะ 5 ปี เป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว
                  
รายงานการศึกษานี้ เป็นการนำเสนอในการประชุม ASCO 2016 ที่เมือง ชิคาโก สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการศึกษาแบบสุ่ม เปรียบเทียบ ระหว่างยา Gemcitabine ร่วมกับ  Capecitabine   เทียบกับยา Gemcitabine  อย่างเดียว 
                  
นายแพทย์ John Neoptolemos จากมหาวิทยาลัย Liverpool ในประเทศอังกฤษ ได้รายงานการศึกษานี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย European Study Group for Pancreatic Cancer ซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาการรักษามะเร็งตับอ่อนภาคพื้นยุโรปกล่าวว่า การใช้ยา Gemcitabine ร่วมกับ Capecitabine สามารถเพิ่มอัตราการอยู่รอด โดยมีภาวะแทรกซ้อนที่ยอมรับได้ ทำให้แนวทางการรักษานี้ เป็นมาตรฐานใหม่ในการรักษามะเร็งตับอ่อนที่ผ่าตัดได้
                 
ผลการวิจัยนี้ ได้รับความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งในการแถลงข่าว โดย Don Dizon จาก Massachusetts General Hospital Cancer Center กล่าวว่าเป็นผลการรักษาที่มีความสำคัญยิ่ง ที่มีนัยสำคัญต่อโรคที่รักษายาก เช่นมะเร็งตับอ่อน
                                      
ทั้งนี้ เป็นการพัฒนาตามลำดับจากการผ่าตัดอย่างเดียว ต่อมาใช้ยาตัวเดียว คือ Gemcitabine ซึ่งเป็นมาตรฐานมาระยะหนึ่ง ทั้งนี้ในปี 1970 อัตราการอยู่รอดจากการผ่าตัดอย่างเดียวที่ระยะ 1 ปี มีเพียง 10% สำหรับมะเร็งตับอ่อนที่ผ่าตัดได้ (Resectable Pancreatic Cancer) ต่อมาการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัด ได้เพิ่มอัตราการอยู่รอดเป็น 5 ปี เท่ากับ 8% และเพิ่มเป็น 11% หลังเพิ่มการฉายรังสีร่วมกับยา (Chemoradiation Therapy) และมีรายงานเพิ่มเป็น 16% ถึง 21ด้วยยาเสริม ได้แก่ Gemcitabine หรือ Capecitabine
                    
ทั้งหมดเป็นเหตุผลของการศึกษาวิจัยนี้ ซึ่งเชื่อว่า การใช้ยา 2 ตัว คือ Gemcitabine ร่วมกับ  Capecitabine จะดีกว่า Gemcitabine ตัวเดียว
                    
การศึกษานี้ เริ่มตั้งแต่มกราคม 2008 ถึง กรกฎาคม  2014 ใน 92 สถาบัน 6 ประเทศ โดยมีผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนจำนวน 722 คน อายุเฉลี่ย 65 ปี ได้รับการผ่าตัดร่วมกับยาเคมีบำบัด โดยมีลักษณะโรคทั่วไป เป็นก้อนขนาดก้อน 30 มม. ผ่าตัดได้หมด (Clear Margins) 40% มีการลุกลามที่ขอบ 60%, ร้อยละ 80 มีการลุกลามที่ต่อมน้ำเหลือง และร้อยละ 40 ผลพยาธิวิทยา เป็น Poorly Differentiated
                 
การศึกษานี้ ได้หยุดลง เนื่องจากผลการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มที่ได้ยา 2 อย่างร่วมกัน มีระยะของการมีชีวิตที่อยู่รอด โดยเฉลี่ย 28 เดือน ในขณะที่ใช้ Gemcitabine ตัวเดียว จะเท่ากับ 25 เดือน ซึ่งโดยอัตราการอยู่รอด ที่ 5 ปี เท่ากับ 28.8% กับ 16.3% ในขณะที่ความรุนแรง และอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจะไม่แตกต่างกัน
                
นับว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนและเป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้  ซึ่งผมเชื่อว่าจะรายงานเพิ่มเติมอีกมากในอนาคต

แหล่งที่มา : Neoptolemos JP, et al "ESPAC-4: A multicenter, international, open-label randomized controlled phase III trial of adjuvan0[c]h;combination chemotherapy of gemcitabine (GEM) and capecitabine (CAP) versus monotherapy gemcitabine in patients with resected pancreatic ductal adenocarcinoma" ASCO 2016; Abstract LBA4006.